จัดการอย่างไร เมื่อครอบครัวพบปัญหา "สื่อสารบกพร่อง"
|
อย่างไรก็ดี มีครอบครัวอีกจำนวนมากที่ไม่มีความสุขเหตุเพราะการสื่อสารบกพร่อง ซึ่งสาเหตุของการสื่อสารทางลบที่ไม่สร้างสรรค์ในครอบครัว อาจมาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้ - ความเข้าใจผิด ที่เกิดจากการสื่อสารบกพร่อง - ความแตกต่างระหว่างเพศ - มุมมองและความต้องการแตกต่างกัน - สไตล์การสื่อสารแตกต่างกัน - การแปลความหมายผิด - การปกป้องตนเอง กลัวการไม่ยอมรับ ทำความเข้าใจกับ"การสื่อสารทางลบ" การสื่อสารทางลบจะแสดงออกทั้งภาษาท่าทาง และทางคำพูด ในทางด้านท่าทาง เช่น การจ้องมองอย่างไม่เหมาะสม, สีหน้าบึ้งตึง, เฉยเมย, ใช้ท่าทีเย็นชา, ขาดความใกล้ชิด, ไม่มีการปฏิสัมพันธ์โดยการสัมผัส ในทางคำพูด อาจแสดงออกโดยมีลักษณะดังนี้ - พูดไม่ชัดเจน กำกวม ไม่รู้เรื่อง - เจ้ากี้เจ้าการ กำหนดกฎเกณฑ์ให้คนอื่นทำ เช่น ทำไมคุณไม่ไปจ่ายค่าน้ำตอนนี้เลยล่ะ - สั่ง เป็นการกำหนดให้ต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น กลับบ้านเร็วหน่อยนะวันนี้ - สอน เช่น คุณเป็นพ่อคนแล้ว น่าจะมีความรับผิดชอบมากกว่านี้ - ประชด เช่น ตะวันยังไม่ตกดินเลย ทำไมกลับมาแต่วันเชียว - กล่าวหา เช่น คุณไม่เคยช่วยฉันเลี้ยงลูกเลย - เปรียบเทียบ เช่น สามีของคุณเอ ไม่เห็นเขาเป็นเหมือนคุณเลย - ติ เช่น ทำอะไรไม่เคยเรียบร้อยเลย - บ่น เช่น พูดซ้ำ ๆ ซาก ๆ ยืดยาวในเรื่อง ๆ หนึ่ง - ด่าว่า เช่น การใช้คำหยาบคาย ไม่สุภาพ - ลักษณะอื่น ๆ เช่น ไม่พูดเพราะคิดว่าอีกฝ่ายรู้แล้ว, พูดผ่านคนอื่น ทำให้เกิดความเข้าใจผิด, ด่วนสรุปทั้งที่ยังฟังความไม่ครบถ้วน, แปลความหมายในเชิงลบ, ชอบพูดถึงความผิดพลาดในอดีตของอีกฝ่าย, ไม่ใส่ใจในสิ่งที่อีกฝ่ายพูด, ไม่ยอมพูดคุยกัน เพราะคิดว่าพูดทีไรก็ทะเลาะกันทุกที แต่ภายในใจอาจเต็มไปด้วยความโกรธ น้อยใจ ไม่สบายใจ เป็นต้น การเริ่มต้นชีวิตคู่เป็นช่วงที่สำคัญมาก หากคุณเริ่มต้นด้วยการสื่อสารที่ดีมาตั้งแต่แรก ก็จะส่งผลให้คุณมีการสื่อสารที่ดีต่อไปด้วย แต่หากการสื่อสารในช่วงต้นไม่ดี ก็อาจเป็นการยากที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารให้ดีในภายหลัง | ||||
การสื่อสารทางบวกมีองค์ประกอบที่ควรแสดงออกดังนี้ - สีหน้า ยิ้มแย้มแจ่มใส แสดงออกถึงการใส่ใจรับฟัง - การสบตา จะทำให้การพูดจาง่ายขึ้น และอาจช่วยระงับอารมณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการพูดคุยกันได้ - ท่าทาง แสดงออกว่าสนใจฟังในสิ่งที่เขาหรือเธอพูด เช่น การผงกศีรษะรับ การโน้มตัวเข้าหา - การสัมผัส จะช่วยให้เกิดความรู้สึกทางใจ ถึงความรักใคร่ อบอุ่น และสนิทสนม เช่น การจับมือ การโอบกอด - ระยะห่าง ควรมีการพูดคุยกันในระยะใกล้ เพื่อที่จะไม่คลาดเคลื่อนในการรับฟัง และจะได้ไม่ต้องตะโกนใส่กัน การสื่อสารทางบวกอาจทำได้โดย - พูดอย่างชัดเจนและตรงประเด็น - เปิดเผยความคิดเห็นและความรู้สึกของคุณอย่างตรงไปตรงมา - อย่าเดาใจกันเพราะอาจเกิดการเข้าใจผิด - เรียนรู้ศิลปะในการพูดว่าสิ่งไหนควรพูด และควรพูดเมื่อไร - เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายพูดด้วย ไม่ใช่พูดอยู่ฝ่ายเดียว - หากจะพูดคุยเรื่องที่ขัดแย้งกัน ก็ควรเริ่มต้นการสนทนาเชิงบวกเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดี - พยายามอย่ารื้อฟื้นเรื่องอดีต - พยายามใช้คำพูดถึงตนเองแทนที่จะพูดถึงคนอื่น พูดว่าคุณต้องการอะไร ไม่ใช่พูดว่า เขาไม่ได้ทำอะไรให้ เช่น แทนที่จะพูดว่า รีบ ๆ หน่อยได้ไหม สายมากแล้วนะ ก็ควรพูดใหม่ว่า "ฉันกลัวว่าจะไปทำงานไม่ทัน เราอาจต้องรีบกันหน่อย" - อย่าเงียบเมื่ออีกฝ่ายพยายามสื่อสารด้วย - ตั้งใจฟังอย่างตั้งใจ และตั้งคำถามอย่างเหมาะสม - ควบคุมอารมณ์ ก่อนที่จะแสดงท่าทีอะไรออกมา - อย่าพูดแทรก ขัดคอ หรือโต้ตอบโดยที่ยังฟังไม่จบ - พยายามทำความเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของคนรัก - เมื่ออีกฝ่ายพูดไม่เข้าหู อย่าตีความในเชิงลบโดยทันที - รับฟังความคิดเห็น ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม ในเมื่อคนรักของคุณคือคนสำคัญของคุณ คุณจึงควรปฏิบัติต่อคนรักของคุณให้ถูกต้อง เริ่มต้นที่การพูดจาดีต่อกัน ให้เกียรติกัน พูดคำสุภาพต่อกัน เหล่านี้เป็นแรงเสริมที่ดีในการทำให้อีกฝ่ายมีพฤติกรรมดีขึ้น การพูดอย่างมีศิลปะในสิ่งที่คุณชอบและไม่ชอบอย่างตรงไปตรงมาจะช่วยทำให้คุณ ทั้งสองทำสิ่งที่ถูกใจกันและกันมากขึ้น และการให้กำลังใจจะช่วยประคับประคองชีวิตคู่ของคุณให้มีความรักใคร่ผูกพัน เพิ่มมากขึ้น คุณอยากให้คนรักของคุณปฏิบัติกับคุณเช่นไร ก็จงปฏิบัติเช่นนั้นกับเขาหรือเธอ การปฏิบัติที่ดีก่อน ไม่ได้ทำให้คุณเสียศักดิ์ศรีอะไรมากมายไม่ใช่หรือ เพราะการยอม (แพ้) คนรักของคุณ ท้ายที่สุดคุณจะชนะ (ใจ) เขาหรือเธออย่างแท้จริงนั่นเอง ขอบคุณข้อมูลจากคู่มือการเสริมสร้างชีวิตคู่ สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ |
ขอบคุณ : ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น