ชาติกำเนิด
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ เกิดที่บ้านบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2454 ตรงกับวันอังคาร ขึ้น 13 ค่ำ เดือนสิบ ปีกุน เป็นบุตรของ นายจีน และนางโสม อินทผิว หลวงพ่อเทียนมีชีวิตในวัยเด็กเช่นเดียวกับเด็กชาวบ้านในท้องถิ่นชนบทห่างไกล ความเจริญโดยทั่วไป คือเมื่อตื่นเช้าก็ไปช่วยพ่อแม่ทำนาเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ตกเย็นก็ไล่ต้อนวัวควายกลับบ้าน ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือในโรงเรียน
หลวงพ่อเทียนมีนามจริงว่าพันธ์ นามสกุล อินทผิว เหตุที่ท่านเป็นที่รู้จักในนาม หลวงพ่อเทียน เพราะคนในท้องถิ่นของท่านนิยมเรียกชื่อกันตามชื่อบุตรคนแรก บุตรชายคนแรกของหลวงพ่อชื่อเทียน ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านจึงเรียกท่านว่าพ่อเทียน ภรรยาของท่านชื่อหอมก็ได้รับการเรียกว่าแม่เทียนเช่นเดียวกัน
การบรรพชาและอุปสมบท
เมื่อ พ.ศ. 2465 หลวงพ่อเทียนมีอายุได้ 10 ขวบ ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบรรพตคีรี บ้านบุฮม ตำบลบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย โดยมีพระผอง จันทร์สุข (มีชื่อนิยมเรียกในสมัยนั้นว่า ยาคูผอง) เป็นหลวงน้าของท่านซึ่งไปเรียนหนังสือมาจาก จังหวัดอุบลราชธานี ได้มาขอกับบิดามารดาของท่านให้ท่านไปบรรพชาเป็นสามเณรคอยรับใช้ เรียกในสมัยนั้นว่าเณรใช้ อยู่วัดบรรพตคีรี บ้านบุฮม ตำบลบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน๖(หลวงน้าของท่านรูปร่างสูงและผิวขาวเหมือนฝรั่ง เวลาติดตามหลวงน้าไปไหน หลวงน้าเดินแต่หลวงพ่อต้องวิ่ง)
ปี พ.ศ. 2474 เมื่ออายุครบการอุปสมบท หลวงพ่อก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ อยู่กับหลวงน้า คือพระผอง จันทร์สุข อีกครั้ง โดยมีพระครูวิชิตธรรมจารย์ เจ้าคณะอำเภอเชียงคานเป็นพระอุปัชฌาย์ และอยู่ประจำที่ วัดภูหรือวัดบรรพตคีรี บ้านบุฮม ตำบลบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย การอุปสมบทครั้งนี้ ท่าน ได้ครองเพศสมณะอยู่เป็นเวลา 6 เดือน ก็ได้ลาสิกขาบท
การประกอบอาชีพและการครองเรือน
หลังจากลาสิกขาบทแล้ว นายพันธ์ อินทผิว ก็ได้สมรสกับนางหอม อินทผิว มีบุตร 3 คน ยึดอาชีพทำนา ทำสวน และค้าขายขึ้นล่องระหว่างจังหวัดหนองคายและอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย การค้าขายได้ผลดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ท่านก็ไม่มีความพอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ แม้เวลานอนก็คิดถึงแต่เรื่องเงินทอง
เป็นนักแสวงบุญ
หลวงพ่อได้เล่าให้ฟังว่าในระหว่างที่ครองเรือน ท่านได้เป็นนักแสวงบุญ โดยได้เป็นผู้นำชาวบ้านทำบุญเสมอมา ในเวลาต่อมาท่านเป็นผู้ใหญ่บ้านมีคนเคารพนับถืออยู่ ท่านได้ชักชวนญาติพี่น้องเพื่อนบ้านในการทำบุญ เช่น มีการแจกข้าวตอนจำพรรษามีการทอดกฐิน มีการทำบุญประจำปี คือ การทำบุญบั้งไฟ ในเดือน 5 หรือ เดือน 6 มีการทำบุญมหาชาติ การเทศน์มหาชาติ การทำบุญสังฮอม(สังรวม)ธาตุ
สาเหตุที่ออกแสวงหาสัจธรรม
หลวงพ่อเล่าว่าครั้งหนึ่งคนที่เมืองลาวมาขอให้ท่านนำกฐินไปทอดที่เมืองลาว ในครั้งนั้นมีการทำกฐินถึง 5 กอง เนื่องจากมีหลายบ้านขอร่วมไปทอดด้วย และในการทำกองกฐินจะต้องมีมหรสพให้คนชม หลวงพ่อได้ตกลงกับภรรยาไว้แล้วว่า การใช้จ่ายต่างๆ และการจัดหาอาหารให้แขก ยกให้เป็นหน้าที่ของภรรยาท่าน ตัวท่านเองจะรับอุโบสถศีลและรับแขกทางไกล ครั้นเวลาเช้าภรรยาท่านมาถามว่าจะต้องจ่ายเงินค่าหมอลำเท่าไร ท่านรู้สึกโกรธมาก ท่านเล่าว่า “มันหนักจนลุกแทบจะไม่ได้ มันตำเข้าในใจ” แต่ท่านข่มอารมณ์ไว้ มิได้แสดงให้ภรรยาของท่านทราบ กลับตอบด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่าเป็นหน้าที่ของภรรยาท่าน แต่ความโกรธนั้นยังอยู่ในใจของท่าน หลังจากนำกฐินไปถวายที่ฝั่งลาว และกลับมารับประทานข้าวมื้อเย็นกับภรรยาและบุตรทั้งสอง ท่านได้กล่าวเปรยถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในตอนเช้าว่า “คนไม่รู้จักเคารพนับถือก็อย่างนี้แหละ” ท่านกล่าวซ้ำหลายครั้งคนภรรยาของท่านสะดุดใจ เมื่อภรรยาของท่านพาบุตรทั้งสองไปนอนแล้ว จึงมาถามว่า ท่านโกรธที่ถามเรื่องค่าหมอลำใช่หรือไม่ เมื่อท่านตอบว่าใช่ ภรรยาของท่านจึงพูดว่า สามีภรรยาถามกันเรื่องการจับจ่ายใช้สอยถือว่าผิดด้วยหรือ หลวงพ่อท่านเห็นด้วยกับคำพูดของภรรยา ท่านรู้ว่าท่านผิด มีมานะทิฐิอยากจะเอาชนะ ภรรยาของท่านพูดว่า “เจ้าไม่พอใจละสิ โอ! ข้อยบ่รู้จักเจ้าไม่พอใจ ก็นั่งหน้าตาดีอยู่นี่นะ โอ! เจ้าตกนรกแล้ว” หลวงพ่อท่านเห็นจริงตามคำพูดของภรรยาท่าน คำพูดนี้กระทบใจท่านมากจนท่านถือว่าภรรยาของท่านเป็นครูท่าน มีบุญคุณต่อท่านที่สุด แต่ก่อนท่านไม่เข้าใจว่าความโกรธนี้เป็นความทุกข์หนักเหมือนตกนรก ภรรยาของท่านเองก็ไม่เข้าใจแต่พูดไปตามอารมณ์ “เจ้าตกนรกแล้ว แม้ทำกองกฐินก็บ่ได้บุญดอกเจ้า”
ตัดสินใจออกไปปฏิบัติธรรม
หลวงพ่อเล่าว่าเมื่อหลวงพ่ออายุได้ 40 ปีเศษ ท่านเลิกทำการค้าขายโดยเด็ดขาด ไม่มีงานการอะไรต้องทำ ท่านจึงได้เฝ้าครุ่นคิดอยู่เสมอว่า คนเราเกิดมาแล้วก็ตาย ไม่สามารถนำอะไรติดตัวไปด้วย มีแต่บาปกับบุญ ในที่สุดท่านจึงตัดสินใจออกปฏิบัติธรรมเพื่อหาทางพ้นทุกข์ ให้ได้ ท่านบอกความตั้งใจของท่านแก่ภรรยา ภรรยาของท่านจึงได้จัดเสื้อผ้าใส่กระเป๋าให้ท่าน ท่านไม่ได้บอกภรรยาของท่านว่าจะไปอยู่ที่ใดและจะไปนานเท่าไรเพียงแต่ ท่านบอกว่าหากไม่ตายเสียก่อนก็จะกลับมาอีก เมื่อหลวงพ่อไปถึงตำบลพันพร้าว อำเภอท่าบ่อ ซึ่งเป็นอำเภอศรีเชียงใหม่ปัจจุบัน ท่านจึงได้ทราบว่า เพื่อนของท่านคือมหาศรีจันทร์ ที่ท่านตั้งใจจะมาศึกษาธรรมด้วย ได้ไปจำพรรษาอยู่ที่หลวงพระบาง ประเทศสาธารณะประชาธิปไตยประชาชนลาว มีแต่หลวงพ่อวันทองที่แต่เดิมเคยเป็นปลัดอำเภอ ปลดเกษียณแล้วจึงมาบวชเป็นพระ มีพระสงฆ์อีกรูปหนึ่งชื่อพระอาจารย์ปาน เป็นผู้สอนอารมณ์ปฏิบัติให้หลวงพ่อ อาจารย์ปานผู้นี้ท่านเป็นชาวลาว อยู่ที่สุวรรณเขต ได้ไปเรียนวิชาติงนิ่ง (การเจริญสติโดยวิธีการเคลื่อนไหว ประกอบคำบริกรรมติง – นิ่ง เมื่อเคลื่อนมือให้บริกรรม “ติง” เมื่อหยุดให้บริกรรม “นิ่ง” และให้รู้ว่าเคลื่อนไหวหรือนิ่ง ซึ่งแตกต่างจากวิธีที่หลวงพ่อเคยทำคือ เมื่อเคลื่อนมืออยู่หรือหยุดก็ให้รู้สึกเท่านั้น ไม่มีการแยกแยะว่าเคลื่อนไหวอยู่หรือหยุด)
รู้อารมณ์รูปนาม
ก่อนที่จะรู้นั้น หลวงพ่อนั่งพับเพียบ ตอนเช้ามื้อ 10 ค่ำนี่ แมงป่องตัวหนึ่งมันตกใส่ขา แมงป่องรู้จักไหม แมงงอด แมงงอดแม่ลูกอ่อนมันตกลงใส่ขาหลวงพ่อ พอดีตกปุ๊บลงมา ลูกมันอยู่ใต้ท้องแม่มันนะ มันก็แล่นออกตามขาหลวงพ่อนี่เลย พอดีมันแล่นตามขา หลวงพ่อก็เบิ่งมัน ดูมัน ลูกมันก็แล่นตาม แม่มันหมอบอยู่คาที่เลย ลูกมันออกจากท้องแม่มัน ไปนานๆแล้ว ลูกมันก็กลับมาหาแม่มันอีก พอดีลูกมันมาหาแม่มัน หลวงพ่อไม่ได้ไปทางใด หลวงพ่อก็นั่งอยู่ มีไม้อันหนึ่ง หลวงพ่อก็เอาไม้แตะขาหลวงพ่อนี่ พอดีแตะขาอย่างนี้ แมงงอดตัวนั้นมันก็แล่นเข้ามาจับไม้ แล้วเอาไปวางไว้ที่คันนา
พอประมาณตีห้า พอดูลายมือเห็นนี่แหละยังไม่สว่างดี, มันเป็นทุ่งนา ที่ๆ ไปทำนั่น, นั่งอยู่ คราวนั้นนุ่งกางเกงขาสั้น นั่งพับเพียบ, มีแมงป่องตัวนึงตกลงมา มันตกลงมาบนขา เป็นแมงป่องแม่ลูกอ่อน ลูกแมงป่องก็ตกมากับแม่มันใส่ขาอาตมาแล้ววิ่งไปตามขา, ก็นั่งดู ไม่ตกใจ, เห็น-รู้แล้วเข้าใจทันที รูป-นาม; เข้าใจจริงๆ บัดเดี๋ยวนั้นเลย. เข้าใจเรื่องรูป เรื่องนาม เรื่องรูปทำ-นามทำ รูปโรค-นามโรค เข้าใจ ทุกขัง-อนิจจัง-อนัตตา เข้าใจเรื่องสมมุติ ศาสนา-พุทธศาสนา บาป-บุญ ต้นเหตุของบาป-ต้นเหตุของบุญ. เข้าใจจริงๆ ในช่วงระยะสั้น, แว้บ-ขึ้นมาครั้งเดียวเท่านั้น, มันรู้จริงๆ เข้าใจซาบซึ้งโดยไม่เก้อเขิน-รู้ตรงนี้. รู้พุทธศาสนาคือรู้ที่ตัวเรา
ประจักษ์แจ้งสัจจะ
ตอนเช้ามืด ขณะที่ผมเดินไปเดินมาอยู่* มีตะขาบตัวหนึ่งวิ่งผ่านหน้าผม, ที่นั่นไม่มีไฟฟ้า มีเพียงเทียนไขที่จุดตั้งเอาไว้ตรงนั้น ตรงนี้สำหรับเดินจงกรม, ผมไปเอาไฟ (เทียนไข) มาส่องดูแต่ไม่เห็น ตะขาบคงไปไกลแล้ว, ตะขาบนี้เคยกัดนานมาแล้ว, เจ็บ – จำได้. เมื่อไม่เห็นผมก็มาเดินดูความคิดของตัวเองต่อ, บัดเดี๋ยวนั้น มันคิด-วูบ-ขึ้นมา, จิตใจผมรู้, รู้จักศีล. ศีลที่รู้จักขึ้นมานั้น ศีลแปลว่าปกติ, ไม่ใช่ศีลห้าศีลแปดศีลสองร้อยยี่สิบเจ็ด อย่างที่ผมเคยสมาทานรักษาศีลมาตั้งแต่หนุ่มนั้น. บัดนี้ จึงได้รู้จักว่า “ศีลเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างหยาบ, สมาธิเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างกลาง, ปัญญาเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด” – ตาม ตำราว่าไว้อย่างนี้; ตอนนี้ ผม, เพราะกำจัดกิเลสอย่างหยาบได้แล้วศีลจึงสมบูรณ์-รู้. อันที่จริง, ศีลสมบูรณ์นั้น ก็คือตัวสมาธิ-ตัวปัญญานั่นแหละ.
เมื่อจิตใจเปลี่ยนไปนั้น ผมยังเดินไปเรื่อยๆ , เมื่อผมรู้สิ่งเหล่านั้นแล้ว จิตใจมันจืด – คล้ายกับเราถอนผมออกจากหัว มันเอาไปปลูกอีกไม่ได้ จะเอากลับไปเข้ารูเดิมก็ไม่ได้, หรือคล้ายกับเอาน้ำร้อนไปลวกหนังหมู มันจะซีดขาวจืดไปหมด, หรือเปรียบเหมือนเราเอาสำลีไปจุ่มน้ำ ยกขึ้นมาบีบน้ำออก หนเดียวเท่านั้นมันจืดออกไปหมดจริง; จิตใจนี้ก็เหมือนกัน . เรื่องของความคิดนั้น: จึงขอให้ดูความคิดให้เห็นความคิด, แต่อย่าไปห้ามความคิด, คิดปุ๊บตัดปั๊บเลย. อันนี้แหละ ปัญญา, ปัญญาที่ว่าเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด. เปรียบได้กับน้ำที่สะอาดบริสุทธิ์ไม่มีตะกอน, ซึ่งก็คือตัวชีวิตจิตใจจริงๆที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มันอยู่ของมันเฉยๆ, ซึ่งมันมีอยู่แล้วในคนทุกคน-จะเห็นจะรู้จะเข้าใจได้ก็ต้องทำตามวิธีการของ พระพุทธเจ้านี้
ถึงตอนเช้ามืด ปรากฏว่ามีตะขาบตัวหนึ่งวิ่งผ่านหน้า ที่นั่นไม่มีไฟฟ้า เพียงแต่จุดเทียนไขเอา พอเอาไฟมาส่องดูปรากฏว่าไม่เห็นเพราะตะขาบไปไกลแล้ว ก็มาเดินดูความคิดของตัวเองต่อ บัดเดี๋ยวนั่นมันคิดวูบขึ้นมา จิตใจผมรู้ รู้จักศีล ศีล แปลว่า ปกติ ไม่ว่าศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ หรือศีล ๒๒๗ ผมเคยสมาทานศีล รักษาศีลมาตั้งแต่เป็นหนุ่ม บัดนี้จึงได้รู้ว่า ศีลเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างหยาบ สมาธิเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างกลาง ปัญญาเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด ตามตำราว่าไว้อย่างนี้ ตอนนี้ผมกำจัดกิเลสอย่างหยาบได้แล้วเมื่อมีศีลสมบูรณ์ ศีลสมบูรณ์นั้นคือตัวสมาธิ ตัวปัญญานั้นแหละ
ต่อมาจิตใจผมเปลี่ยนอีกแล้ว เป็นการเปลี่ยนครั้งที่สาม คือตอนเช้ามืดรู้สองครั้ง จิตใจเบาขึ้นมาสองระดับ ไม่เกาะติดอะไรแล้ว จึงทำให้ผมเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า รู้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน ที่พูดมานี้อาจถูกกล่าวหาว่า ผมพูดอวดอุตริมนุสสธรรม คือธรรมอันยิ่งของมนุษย์ที่ไม่มีในตัวก็เป็นได้ แต่ผมขอยืนยันว่าการที่เล่ามานี้ ผมได้ชี้ถึงเหตุถึงผลให้ฟังด้วย เมื่อต้องการรู้ความจริงก็ต้องพูดของจริงให้ฟัง ถ้าพูดของไม่จริงก็จะเป็นการตู่หรือโกหกมดเท็จไป แต่ที่มีคนรู้แบบไปเห็นแสงสี ผีสาง เทวดา อันนั้นผมไม่รู้ มันเป็นมายาหลอกลวง
เมื่อจิตใจเปลี่ยนไปนั่น ผมยังทำความเพียรเดินจงกรมไปเรื่อยๆ ทำให้ผมรู้สิ่งเหล่านั้น แล้วจิตใจมันจืด คล้ายกับเราถอนผมออกจากหัว หรือนำน้ำร้อนไปลวกหนังหมู จะเห็นหนังขาวซีดสะอาด ดูจืดไปหมด จิตใจของเราก็เหมือนกัน คือคล้ายๆกับเราเอาสำลีไปชุบน้ำ แล้วบีบน้ำออก มันจืดหมดจนิงๆ
ความคิดก็เหมือนกัน ให้เห็นความคิด อย่าไปห้ามความคิด และอย่าไปยึดถือ ให้ปล่อยมันไป นี่คือการเห็นความคิด คิดแล้วให้ตัดปุ๊บเลย เหมือนเป็นการวิดน้ำออกจากก้นบ่อ ทำอย่างนี้นานๆ เข้า สติจะเต็มสมบูรณ์ คิดปุ๊บเห็นปั๊บ อันนี้แหละคือระดับความคิดที่เรียกว่าปัญญา ซึ่งเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด ที่ว่าละเอียดเปรียบได้กับน้ำที่สะอาดไม่มีตะกอน อันตัวชีวิตจิตใจของเราจริงๆ ก็ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มันจะอยู่ของมันเฉยๆ, ซึ่งมันมีอยู่แล้วในคนทุกคน-จะเห็นจะรู้จะเข้าใจได้ก็ต้องทำตามวิธีการของ พระพุทธเจ้านี้
เหตุการณ์หลังการรู้ธรรมะ
เมื่อหลวงพ่อกลับมาถึงบ้าน ท่านได้เปิดอบรมขึ้นเป็นเวลาสิบกว่าวัน ท่านเล่าว่าท่านเสียสละเพื่อสิ่งนี้จริง ๆ ท่านเตรียมข้าวปลาอาหารไว้รับรองผู้มาปฏิบัติธรรมด้วยทุนรอนของท่านเอง และท่านก็คิดว่าเงินทองของท่านที่ท่านมีอยู่ จะสามารถใช้จ่ายค่าอาหารสำหรับผู้มาปฏิบัติธรรมได้เป็นเวลา 3 ปี ในการจัดการอบรมครั้งแรกมีผู้เข้าอบรมทั้งหมด 30-40 คน มีทั้งพระสงฆ์และฆราวาส เจ้าคณะจังหวัดเลย และเจ้าคณะจังหวัดหนองคายได้เดินทางมาร่วมในการอบรมด้วย เมื่อท่านทั้งสองเดินทางกลับไปแล้ว หลวงพ่อก็เป็นผู้สอนการปฏิบัติ มีผู้รู้ธรรมเป็นจำนวนมาก หลวงพ่อเล่าว่าคนที่ไม่เห็นชอบด้วยก็มี แต่ท่านไม่สนใจ ท่านคิดว่าเรื่องของเขาไม่ใช่เรื่องของเรา ท่านไม่หวั่นไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของใครทั้งหมด
นางหอมบรรลุธรรม
ภรรยาของท่านได้ปฏิบัติธรรมได้เป็นเวลา 2 ปีกว่า ก็ถึงที่สุดแห่งทุกข์ หลวงพ่อเล่าว่าขณะนั้นภรรยาของท่านกำลังเก็บผักอยู่ในสวนครัว เพื่อจะมาต้มรับประทานตอนกลางวัน เก็บได้ไม่เท่าใดก็พูดขึ้นว่า “ โอ๊ย ! ข้อยเป็นหยังหว่า” หลวงพ่อท่านถามว่าเป็นอย่างไร ภรรยาของท่านก็ตอบว่า “ หมดตัวแล้ว มันจืดหมด จับแขนดูซิ” หลวงพ่อก็บอกกับภรรยาของท่านว่า “ เอ้า ! อย่าไปดูมันอย่างนั้น ทำสบาย ๆ อย่าไปยุ่ง” ภรรยาของท่านบอกว่า “มันหดไปหมดตัว เหมือนเนื้อถูกเกลือ” หลวงพ่อจับแขนภรรยาของท่าน ภรรยาของท่านก็บอกว่าสบายแล้ว ท่านจึงบอกว่า “อย่าไปยุ่งมัน ความทุกข์มันมีที่ตัวเราเอง” ภรรยาของท่านได้บอกท่านว่าสบายแล้ว
อุปสมบทครั้งที่สอง
ท่านอุปสมบทเป็นครั้งที่สองเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2503 ที่วัดศรีคุณเมือง ตำบลบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย มีพระครูวิชิตธรรมจารย์เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการชุนเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการสุบรรณ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ขณะนั้นหลวงพ่อมีอายุได้ 48 ปี เมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้ว หลวงพ่อได้ทำหน้าที่ของท่านคือสอนธรรมะให้พระสงฆ์และญาติโยม ท่านมักจะถามผู้ที่ได้พบปะสนทนากับท่านว่าเขาผู้นั้นมีความทุกข์ความเดือด ร้อนอะไรบ้าง ถือศาสนาพุทธมากี่ปีแล้ว และความทุกข์จะน้อยลงไปบ้างหรือไม่ หรือยังคงมีความทุกข์อยู่ตามเดิม แสดงว่ายังไม่เข้าใจหลักพระพุทธศาสนา เพียงเข้าใจหลักศีลธรรม ศาสนาศีลธรรม ไม่ใช่เป็นพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธศาสนาสอนให้คนมีปัญญา กำจัดเหตุแห่งทุกข์ลงได้
เผยแพร่ธรรมะที่สิงคโปร์
เป็นการพบปะกันเป็นครั้งแรกระหว่างอาจารย์ธรรมะที่ยิ่งใหญ่สองท่านจากพุทธ ศาสนาในสองสาย ซึ่งมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันคือหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ปรมาจารย์แห่งการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวของไทย และท่านยามาดะ โรชิ (Yamada Roshi) อาจารย์เซนผู้มีชื่อเสียงจากประเทศญี่ปุ่น การพบปะกันในครั้งนั้นนับเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งใน ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาของไทยและญี่ปุ่น และเป็นที่รอคอยของชาวสิงคโปร์มาเป็นเวลานาน
สอนธรรมะโดยไม่ต้องใช้คำพูด
มีอยู่วันหนึ่งที่หลวงพ่อเข้ารับการรักษาที่ประเทศสิงคโปร์ และไม่มีใครคอยเป็นล่ามแปลภาษาให้ หยกเหลียนเยาวชนนักปฏิบัติธรรมหญิงได้เข้าไปพบหลวงพ่อ หลวงพ่อได้สอนธรรมะให้โดยไม่ได้ใช้ภาษาพูด เมื่อผู้ช่วยหลวงพ่อกลับมา ปรากฏว่าหยกเหลียนสามารถเข้าใจธรรมะของหลวงพ่อและได้เป็นนักปฏิบัติธรรมที่ สำคัญคนหนึ่งในแนวทางของหลวงพ่อเทียน
สร้างสำนักปฏิบัติธรรม
หลวงพ่อสอนธรรมะแก่พระสงฆ์และญาติโยมที่บ้านเกิดท่านได้หนึ่งปีกว่า ท่านก็ย้ายเข้ามาอยู่ในอำเภอเชียงคาน ขณะนั้นหลวงพ่อตั้งสำนักวิปัสสนาอยู่ที่อำเภอเชียงคาน 2 แห่ง คือ ที่วัดสันติวนาราม และที่วัดโพนชัย นอกจากนั้หลวงพ่อยังได้ข้ามไปเปิดสำนักอบรมวิปัสสนาที่เมืองลาวอีกแห่งหนึ่ง ด้วย
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ เมื่ออุปสมบทแล้วได้ไปจำพรรษาตามลำดับเวลา ดังนี้
พรรษาที่ 1 พ.ศ. 2503 วัดบรรพตคีรี บ้านบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
พรรษาที่ 2-3 พ.ศ.2504 – 2505 สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(ประเทศลาว)
พรรษาที่ 4 พ.ศ. 2506 ผานกเค้า อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย
พรรษาที่ 5 พ.ศ. 2507 วัดโนนสวรรค์ ตำบลนาอ้อ อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย
พรรษาที่ 6 พ.ศ. 2508 วัดบรรพตคีรี บ้านบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
พรรษาที่ 7 – 11 พ.ศ. 2509 - 2513 วัดป่าพุทธยาน อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย
พรรษาที่ 12–14 พ.ศ. 2514 -2516 วัดโมกขวนาราม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
พรรษาที่ 15 พ.ศ. 2517 เวียงจันทน์ ประเทศลาว
พรรษาที่ 16 –17 พ.ศ. 2518 – 2519 วัดชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
พรรษาที่ 18 – 19 พ.ศ. 2520 – 2521 วัดสนามใน อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
พรรษาที่ 20 พ.ศ. 2522 วัดสวนแก้ว อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี
พรรษาที่ 21 – 22 พ.ศ. 2523 – 2525 วัดสนามใน อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
พรรษาที่ 24 พ.ศ. 2526 วัดโมกขวนาราม ตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
พรรษาที่ 25 – 28 พ.ศ. 2527 –2530 วัดสนามใน อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
พรรษาที่ 29 พ.ศ. 2531 สำนักทับมิ่งขวัญ ถนนเจริญรัฐ อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย
(หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ, 2532. 52-54 )
อาพาธ
หลวงพ่อเริ่มมีอาการอาพาธด้วยโรคมะเร็งมาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2525 โดยท่านมีอาการอาพาธปวดท้องอยู่เนือง ๆ ในระหว่างที่ท่านไปโปรดลูกศิษย์ที่ประเทศสิงคโปร์ครั้งแรก เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2525 นั้น ท่านมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ต้องลงนอนกับพื้นทันทีที่ท่านกลับมาที่พัก หลังจากที่ท่านเดินจงกรมบนถนนหน้าบ้านพัก ท่านจึงจำเป็นต้องเข้ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลสิงคโปร์ ถึงอย่างนั้นท่านยังคงเมตตาสั่งสอนชาวสิงคโปร์ผู้สนใจในการปฏิบัติอย่างใกล้ ชิด และในคราวที่ท่านรับนิมนต์ไปโปรดลูกศิษย์ชาวสิงคโปร์ครั้งที่สอง เดือนตุลาคมในปีเดียวกันนั้น อาการของโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร ได้ปรากฏขึ้นอย่างเฉียบพลัน ท่านจึงจำเป็นต้องเดินทางกลับเพื่อเข้ารับการผ่าตัด โดยทันทีตามคำแนะนำของคณะแพทย์ชาวสิงคโปร์
ละสังขาร
วันที่ 9 กันยายน 2531 หลวงพ่อเดินทางกลับจากจังหวัดเลยโดยมีศิษย์ที่เป็นพระภิกษุและฆราวาส กลุ่มหนึ่งไปส่งท่าน ในขณะนั้นอาการของหลวงพ่อทรุดหนักเป็นที่น่าวิตกว่าร่างกายของท่านอาจจะไม่ สามารถทนต่อความกระทบกระเทือนในการเดินทางได้ เมื่อเดินทางถึงทับมิ่งขวัญ จังหวัดเลย หลวงพ่อปฏิเสธที่จะฉันยาทุกชนิด แม้ว่าหลวงพ่อจะมีวิบากสังขารหนักหนาเพียงใด ท่านก็ยังมีเมตตาแสดงธรรมโปรดญาติโยมและศิษย์ที่เฝ้าอยู่ ณ ที่นั้นวันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2531 เวลา 18.15 น. หลวงพ่อได้ละสังขารอย่างสงบ ณ ศาลามุงแฝกของเกาะพุทธธรรม ทับมิ่งขวัญ สถานที่ปฏิบัติธรรมที่หลวงพ่อได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจในช่วงสุดท้ายของชีวิต (หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ, 2532. 49-51)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น