วันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2554

Bride To Be: 8 กฎเหล็กการใช้ชีวิตคู่ โดยกูรูเลิฟ-หมอแอร์

Bride To Be: 8 กฎเหล็กการใช้ชีวิตคู่ โดยกูรูเลิฟ-หมอแอร์
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 24 มกราคม 2554 10:02 น.


By Lady Manager

เพราะการแต่งงานมิใช่จุดจบ… หากแต่คือ การเริ่มต้นที่ ‘คนสองคน’ ต้องปรับเปลี่ยนชีวิตครั้งใหญ่

Bride To Be ขอส่งท้ายโปรเจกต์ด้วยคำแนะนำดีๆ จาก หมอแอร์-พ.ต.ต.หญิงอัญชุลี ธีระวงศ์ไพศาล จิตแพทย์คนสวย โรงพยาบาลตำรวจ มาให้บรรดาคู่รักข้าวใหม่ปลามัน ได้นำไปปรับใช้กันค่ะ

“เรื่องการใช้ชีวิต แต่งงาน ถามว่าง่ายมั้ย ก็ไม่ง่ายนะ เพราะมันเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เหมือนเพลงที่บอกว่า รักไม่ช่วยอะไร มันจริงนะ รักอย่างเดียวไม่พอ มันต้องมีทั้งรัก ทั้งความเข้าใจ ทั้งการให้อภัยซึ่งกันและกัน ต้องรู้จักสื่อสาร รู้จักพูดคุยกัน” คุณหมอคนสวยเกริ่นนำ พร้อมเริ่มอธิบายถึงกฎเหล็ก 8 ข้อ ที่คู่สามีภรรยาควรปฏิบัติ เพื่อชีวิตหลังแต่งงานที่ราบรื่น สวีทหวานไม่มีเปลี่ยน...

กฎเหล็ก1 : ทำใจยอมรับ ในความแตกต่าง


แพทย์สาวจากโรงพยาบาลตำรวจ บอกว่า สิ่งสำคัญลำดับแรกที่คู่สามีภรรยาจำเป็นต้องทำคือ การยอมรับในความแตกต่างของกันและกัน และนั่นคือ ปราการด่านแรก ที่บอกได้ว่าคุณทั้งสองจะอยู่ร่วมกันไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่

“การแต่งงานคือ เรื่องที่คนสองคน ซึ่งมีความแตกต่างกัน แล้วต้องมาอยู่ด้วยกัน คนเราเมื่อคบกันใหม่ๆ จะคบกันที่ความเหมือน ประมาณว่าเราชอบอะไรๆ เหมือนกันเลย ดูหนังเกาหลีเหมือนกัน ชอบดารา ชอบเพลงแนวนี้เหมือนกัน คนสองคนก็จะชอบกัน แต่พออยู่กันไปจริงๆ คบกันไปลึกๆ มันไม่มีใครหรอกที่จะเหมือนเรา 100% ขนาดพี่น้องพ่อแม่เดียวกัน ยังนิสัยต่างกันเลย แล้วยิ่งมาจากคนละพ่อ คนละแม่ เลี้ยงดูมาต่างกัน มันก็ต้องมีความแตกต่างอยู่แล้ว ซึ่งหากคู่ไหนยอมรับความต่างเหล่านี้ไม่ได้ ก็จะเริ่มมีปัญหา เพราะคนเราพอแต่งงานกัน มันต้องอยู่ด้วยกันทุกวัน ยิ่งอยู่ด้วยกันมากขึ้นเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งเห็นความแตกต่างของอีกฝ่ายมากเท่านั้น”

กฎเหล็ก2 : เลิกคาดหวังให้คู่รัก เป็นได้อย่างใจคุณ

คุณหมอแอร์เล่าว่า มีหลายคู่เชียวค่ะที่หลังแต่งงาน มักคาดหวังให้คู่ของตนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นดั่งใจที่ตัวเองต้องการ ซึ่งท้ายที่สุดก็นำมาซึ่งปัญหาความไม่เข้าใจกัน

“หลายคนอยากให้แฟน เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ พูดง่ายๆ คือ อยากให้แฟนเหมือนตัวเอง หรือเป็นให้ได้อย่างใจที่ตัวเองต้องการ เมื่ออยู่กันไป เราก็จะเต็มไปด้วยความคาดหวัง ยิ่งเราคาดหวังมากเท่าไหร่ แล้วเขาไม่เป็นอย่างที่เราคาดหวัง เราก็จะยิ่งเป็นทุกข์ แล้วพอผิดหวังซ้ำๆ บ่อยๆ เราก็จะเกิดอารมณ์หงุดหงิด ฉุนเฉียว แล้วจะเริ่มไม่เหมือนเดิม จากเมื่อก่อนจะให้ทำอะไรก็ได้ แต่พออยู่ๆ กันไป จะเริ่มเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น เริ่มไม่ยอมทำตามใจอีกฝ่ายมากขึ้น มันจึงเกิดปัญหา

ยกตัวอย่างเช่น ตัวภรรยาเวลาจะไปสังสรรค์กับเพื่อน มักจะชวนแฟนไปด้วย อยากให้สามีไปด้วย แต่พอถึงคราวสามีอยากไปกินเหล้ากับเพื่อน ดันไม่อยากเอาภรรยาไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้หลายคนมาปรึกษาหมอบ่อยๆ มาน้อยใจบ่นว่า ‘ดูสิทีเรายังพาไปด้วยเลย ทีเขา ทำไมไม่ชวนเราไป ไม่อยากให้เราไป’ ซึ่งตรงนี้ถ้ามาถามหมอ หมอก็บอกเลยว่า เขาไม่ใช่คุณ เขาก็มีความชอบของเขาที่ไม่เหมือนกับเรา นี่แหละคือ สิ่งที่เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความแตกต่างของกันและกัน ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็นให้ได้ แล้วก็อย่าไปคาดหวังในตัวเขามากเกินไป”

กฎเหล็ก3 : คบน้อย-คบนาน ต่างต้องปรับตัว


จิตแพทย์คนสวย ผู้มีประสบการณ์ตรงแต่งงานมาได้ 3 ปีเศษ อธิบายต่อเรื่องของการปรับตัวว่า ไม่ว่าจะคบกันมานานแค่ไหน เมื่อแต่งงานแล้วก็ล้วนแต่ต้องปรับตัวเข้าหากัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่ที่คบกันได้ไม่นานแล้วแต่ง ยิ่งต้องเตรียมรับศึกหนัก

“แต่ละคู่ ไม่ว่าคบกันก่อนแต่งงานมานานแค่ไหน ก็ต้องปรับตัวทั้งนั้น เพราะอย่างที่บอก..คนสองคนไม่มีทางที่จะเหมือนกัน 100% แต่คู่ที่คบกันมานานแล้วค่อยแต่ง จะได้เปรียบ เพราะเขาเรียนรู้กันมาเยอะ เคยผ่านประสบการณ์ทะเลาะกัน ดีกัน แล้วกลับมาคืนดีกัน เหมือนมีชั่วโมงบินสูงกว่า ความผูกพันมากกว่า แต่อย่างกรณีคู่ที่เพิ่งคบกัน ปุ๊บปั๊บยังไม่ถึงปีแต่งงานเลย อันนั้นอาจจะยังไม่ทันรู้จักกันดี แบบนี้มีโอกาสที่จะเกิดปัญหาสูง”

อะฮ้า...เมื่อฟัง ประโยคข้างต้นแล้ว อย่าเพิ่งตกอก ตกใจไปใหญ่ค่ะ สำหรับคู่รักที่อาจจะคบกันมาไม่นานนัก ทว่าเมื่อคุณทั้งสองมั่นใจ แต่งงานกันแล้ว คุณหมอก็มีคำแนะนำมาให้ด้วย

“สำหรับคู่ที่คบกัน มาไม่นาน อาจจะต้องปรับเยอะสักหน่อย เรื่องแรกคือ ต้องทำความเข้าใจกันให้มาก ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น แล้วพูดคุยกัน อะไรที่เราไม่ชอบ อะไรที่เรารับไม่ได้ก็ต้องบอกกัน แต่ก็ต้องบอกกันแบบนิ่มนวล

บางทีมันเป็นเรื่อง ของความไม่เข้าใจกัน ซึ่งบางคนชอบคิดว่าเขาน่าจะรู้นะ ว่าเวลาฉันทำหน้าเป็นตูดหมึกอย่างนี้ เขาน่าจะเดาได้แล้วว่าฉันงอน ควรจะมาง้อ แต่ในความเป็นจริงหมอจะบอกว่า บางเรื่องเขาไม่รู้หรอก มันต้องคุยกัน และคุยกันดีๆ ไม่ใช่มาด่ากัน ตำหนิกัน เช่นขึ้นเสียงว่า ‘ทำไมทำอย่างนี้ฉันรับคุณไม่ได้’ แทนที่จะบอกว่า เรารู้สึกไม่สบายใจเลยที่เห็นเธอกลับบ้านดึก ปรับได้หรือเปล่า

แต่อย่างไรเสีย คนที่คบกันมาน้อย แล้วแต่งงานก็มีข้อได้เปรียบอยู่เหมือนกัน ในเรื่องของความสด ความสวีทหวาน เพราะเพิ่งรักกันใหม่ๆ ความหวือหวาก็จะมีอยู่ ซึ่งทางที่ดีเราควรใช้ความหวือหวานี้ให้เป็นประโยชน์ ค่อยๆ พูด ค่อยๆ ปรับความเข้าใจกันไป”

กฎเหล็ก4 : เลิกเสพติด ความหวือหวา

แพทย์สาวผู้เชี่ยวชาญด้าน จิตวิทยาแนะให้รู้จักกับอีกปัญหา ที่คู่แต่งงานมือใหม่มักพบเจอ นั่นคือการ ‘เสพติดความหวือหวา’ ที่พบบ่อยก็คือ การที่คุณสาวๆ มักคาดหวังว่าจะได้รับสิ่งพิเศษ ในโอกาสสำคัญเสมอ (เหมือนสมัยจีบกันใหม่ๆ) ทว่าอารมณ์คุณผู้ชายหลายคนเชียวค่ะ ที่แม้จะรักแสนรัก แต่ก็ทำสิ่งพิเศษต่างๆ ได้เฉพาะช่วงโปรโมชัน (promotion) รักกันแรกๆ เท่านั้น

“การที่คู่รักมีสิ่ง ดีๆ หรือสิ่งพิเศษให้กัน ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ในบางครั้งหากเวลาเปลี่ยนไปแล้วปรับตัวไม่ได้ บางคู่ก็อาจเกิดปัญหา เรื่องการเสพติดความหวือหวา ติดว่าวันวาเลนไทน์ต้องมีช่อดอกไม้โตๆ แพงๆ ซึ่งหลายคนโดยเฉพาะกับผู้ชาย เขาจะไม่ชอบความหวือหวาแบบนั้นเท่าไหร่ ถามว่าทำไมแต่ก่อนทำได้ ต้องอธิบายว่าช่วงโปรโมชันเขาทำได้

มันเป็นธรรมชาติของ ผู้ชาย ช่วงแรกจะจีบคนนี้ จะจีบให้ติดก็จะเป็นพ่อบุญทุ่ม ทำได้ทุกอย่าง แต่พอเป็นแฟนกันแล้ว ก็หมดโปรโมชัน แต่ถามว่ารักอยู่มั้ยก็ยังรักอยู่แหละ แต่บางทีคบกันมากๆ หลายปี มันก็จะเริ่มรู้สึกเปลือง รู้สึกว่าเอ๊ะ! ทำไปทำไม ก็รักอยู่แล้ว ซึ่งตรงนี้มันคือ ความแตกต่างกันระหว่างเรื่องเพศด้วยเหมือนกัน”

กฎเหล็ก5 : เรียนรู้ “ภาษารัก”

คุณหมอหน้าสวยเล่าต่อ ถึงความต่างระหว่างชายและหญิง ว่าผู้ชายหลายคนมักเป็นพวกพูดไม่ค่อยเก่ง ยิ่งอยู่กันนานไป กว่าคำว่ารักจะหลุดออกมาจากปาก มันแสนยากเย็น เล่นเอาคุณภรรยาน้อยใจอยู่บ่อยๆ ซึ่งงานนี้คุณหมอแนะว่า อย่ามัวเฝ้ารอฟังแต่คำว่ารักเลยค่ะ เพราะแท้จริงแล้ว ยังมีการกระทำอีกหลายอย่าง ที่ถือเป็นภาษาแทนคำ ‘รัก’ ที่เขาแสดงออกออกมา

“ผู้ชายจะไม่ค่อยพูด ว่าผมรักคุณ คือ ไม่ค่อยแสดงเป็นคำพูด แต่ผู้หญิงจะอยากฟัง บางคนอยากฟังทุกวัน ต้องให้แฟนบอกรักทุกวัน พอแฟนทำไม่ได้ก็เกิดปัญหาอีก ตรงนี้ความจริงแล้ว มันมีเรื่องของภาษารักอื่นๆ ที่เขาแสดงออกมาด้วย ซึ่งเราจะต้องอ่านภาษารักให้เป็น แปลให้ออก ไม่ใช่คิดว่าจะได้รับความรักต่อเมื่อ แฟนบอกว่า ฉันรักคุณ ผมรักคุณ อย่างนี้มันไม่ใช่

ภาษารักมีตั้ง หลายอย่าง ตั้งแต่ภาษาพูด พูดว่ารักนะ ชอบนะ ภาษากายคือ การแสดงออก การโอบกอด, สัมผัส, ลูบผม, จับผม, หวีผมให้, นวดให้ แม้แต่การมีเพศสัมพันธ์ก็เป็นภาษารักอย่างหนึ่ง หรือจะให้เป็นสิ่งของ ให้ของขวัญ ให้แหวน บ้าน รถยนต์ แต่สิ่งของบางทีจะให้กันบ่อยๆ ก็ไม่ได้ ยิ่งอยู่กันนานให้บ่อยๆ ก็อาจสิ้นเปลือง ที่สำคัญคือ ให้บ่อยๆ ก็อาจจะรู้สึกว่าไม่มีคุณค่า นานๆ ให้ทีจะดูมีค่ามากกว่า

บางทีไม่จำเป็นต้อง ให้ของก็ได้ อาจจะให้เป็นเวลา คือ มีเวลาที่จะใช้ร่วมกัน เวลาที่จะอยู่ด้วยกัน ดูหนัง ดูทีวีด้วยกัน กินข้าวด้วยกัน ทำกับข้าวกินด้วยกัน หรือว่าการบริการ การดูแล เช่น สามีล้างรถให้ เช็ค (check) รถให้ การห่วงใยดูแล หรือการที่ภรรยาเตรียมอาหารเช้าให้ ปอกผลไม้ให้ พวกนี้มันเป็นภาษารักของเราทั้งนั้นเลย บางทีคู่รักหรือสามีภรรยา จะมองข้ามเรื่องพวกนี้ไป รอแต่ว่าเมื่อไหร่เขาจะบอกรักเรา เมื่อไหร่เขาจะซื้อเพชรให้ ซื้อเสื้อผ้าให้ เมื่อไหร่จะพาไปซื้อของ แต่ดันมองข้ามสิ่งดีๆ ที่ทำให้กันในทุกวันไป”

กฎเหล็ก6 : ใช้เวลาที่อยู่ด้วยกันอย่างมีคุณภาพ

อีกสิ่งที่คุณหมอเธอฝากมาคือ แนะให้คู่สามีภรรยา ใช้เวลาอยู่ด้วยกันอย่างมีคุณค่า เพื่อเติมเต็มความสุขและความเข้าใจให้มาก

“การใช้เวลาร่วมกัน หลายคนคิดว่า คือ การอยู่บ้านด้วยกันเฉยๆ ถ้าอยู่บ้านด้วยกัน แต่ต่างคนต่างอยู่ คนละมุมของห้องมันก็ไม่มีประโยชน์ เท่ากับมีเวลาที่มีคุณภาพร่วมกัน เวลาที่มีคุณภาพคือ เวลาที่อยู่ด้วยกันแล้วมีความสุข เช่น กินข้าวด้วยกัน ดูทีวีด้วยกัน หัวเราะ พูดคุยด้วยกัน ซึ่งเวลาที่คุณมีปฏิสัมพันธ์กันแบบนั้น มันคือ เวลาที่มีคุณภาพ ถึงแม้จะไม่มากแต่อยู่ด้วยกันแล้ว มันมีความสุข”

กฎเหล็ก7 : สวีทหวาน 1 ปี ก่อนมีลูก

คุณหมอแนะนำให้คู่สมรสใช้ชีวิตแต่งงานแสนหวาน วนเวียนกันดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์สัก 1 ปีก่อนจะมีลูกน้อยมาเป็นโซ่ทองคล้องใจ

“ถ้าให้หมอแนะนำคือ ควรจะแต่งงาน แล้วใช้ชีวิตคู่แบบสามีภรรยาอย่างน้อยสัก 1 ปี แล้วค่อยมีลูก เพื่อให้ได้ใช้ชีวิตคู่แบบจริงๆ เรียนรู้ซึ่งกันและกัน สวีทกัน ไปเที่ยว ไปทำอะไรแบบสองคน เพราะพอมีลูกขึ้นมา ชีวิตคู่มันจะเปลี่ยนแล้ว มันจะไม่ได้มีแค่สองคน แต่จะมีลูกเข้ามาด้วย ทำให้คุณต้องเป็นทั้งสามีภรรยา และก็ต้องเป็นพ่อและแม่ด้วยในเวลาเดียวกัน

สำหรับส่วนนี้ คนที่ได้ใช้ชีวิตคู่กันมาสองคน สวีทกันมาพักหนึ่ง จนรู้สึกว่ามันเริ่มเติมเต็มแล้ว ลูกก็จะมาเป็นโซ่ทองคล้องใจ ทำให้ครอบครัวสมบูรณ์ แต่หลายๆ คนพอแต่งปั๊บ มีลูกปุ๊บ เขาอาจจะรู้สึกเหมือนตั้งตัวไม่ทัน รู้สึกว่าชีวิตแต่งงานไม่มีความหวานเลย ไม่มีเวลาไปสวีทด้วยกันเลย

เพราะพอมีลูกก็ต้อง ช่วยกันเลี้ยงลูก ต้องคอยวุ่นวายกับลูก ฉะนั้นที่หมอจะเตือนก็คือ อย่ามีลูกตอนที่ยังไม่พร้อม ต้องพร้อมก่อนค่อยมี ถ้าให้ดีอาจจะคบกันอย่างน้อยสักหนึ่งปี แล้วหลังแต่งงานก็อยู่กันสักหนึ่งปี ช่วงนั้นก็คุมกำเนิดไปก่อน พอพร้อมแล้วค่อยปล่อยให้มีลูก”

กฎเหล็ก8 : เมื่อเกิดปัญหา หากจบไม่ได้ ให้เล็งหาจิตแพทย์เป็นตัวช่วย

“ถ้าเมื่อใดที่คุณคิดว่า พยายามแก้ปัญหา พยายามปรับด้วยกันแล้วมันไม่ได้ผล หรือรู้สึกว่ายังไม่มีความสุขในชีวิตคู่ ก็สามารถมาปรึกษาจิตแพทย์ได้ หลายคนคิดว่าคนมาพบจิตแพทย์ต้องเป็นคนบ้าเท่านั้น จริงๆ มันไม่ใช่ แค่คุณมีปัญหาไม่สบายใจ คุณก็สามารถมาหาจิตแพทย์ได้

ปัจจุบันมีคู่รัก ที่มีปัญหาแล้วมาพบหมอเยอะเหมือนกัน บางคู่อาจมาทั้งสามีภรรยา แต่บางทีสามีไม่ยอมมา เราก็สามารถทำผ่านคนๆ เดียวก็ได้ เพราะคนเราอยู่ด้วยกัน ถ้าคนหนึ่งเปลี่ยนอีกคนก็เปลี่ยนตาม อย่างที่หมอรักษาคนไข้มา บางคู่สามีไม่ยอมมา มาแต่ภรรยา หมอก็คุยกับภรรยาว่าควรปรับวิธีคิดวิธีการปฏิบัติตัวอย่างไร พอภรรยาปรับ นิสัยแล้วสามีก็ดีขึ้น ครอบครัวเขาก็มีความสุขขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น ภรรยาขี้บ่นจู้จี้ คาดหวังเยอะ แล้วก็คอยตามจิก สามีก็เกิดความอึดอัดรำคาญ จนเกิดปฏิกิริยาต่อต้าน แล้วก็ยิ่งประชดประชันกัน แต่พอภรรยาเปลี่ยน รู้จักเอาใจมากขึ้น บ่นให้น้อยลง ไม่ระเบิดอารมณ์ใส่ ไม่ตามจิก คือ ทำให้บ้านมีความสุข สามีก็อยู่บ้านมากขึ้น ทุกอย่างก็ดีขึ้นโดยอัตโนมัติ ดังนั้นที่แนะนำคือ ถ้ามีปัญหาอาจจะคุยกันก่อน แต่ถ้าไม่ดีขึ้นก็แนะให้มาหาคนกลาง ให้จิตแพทย์เป็นคนกลางก็ได้” จิตแพทย์อัญชุลีแนะนำ

*ข้อคิดส่งท้าย หมั่นเติมรักไม่ให้ขาด

ก่อนจากกัน หมอแอร์คนสวยไม่ลืมที่จะฝากคำแนะนำโดนๆ ที่นำไปใช้ได้จริงมาว่า

“การแต่งงานไม่ใช่ จุดจบ มันแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้นเอง ที่สำคัญ พอมีลูก ก็เหมือนการเริ่มต้นใหม่อีก เริ่มต้นใหม่ไปเรื่อยๆ เรียนรู้ไปเรื่อยๆ

สิ่งที่หมออยากแนะนำ ให้ทำก็คือ การหมั่นเติมความรักให้กันเสมอ ยกตัวอย่างให้เห็นง่ายๆ ก็คือ ให้คิดเหมือนกับตอนคบกันใหม่ๆ ตั้งแต่เป็นแฟนกัน มันเหมือนเราไปฝากเงินไว้ที่บัญชีธนาคาร เป็นบัญชีแห่งความรัก ที่ส่วนใหญ่ตอนจีบกันใหม่ๆ เราจะใส่เงินเข้าไปในบัญชีเยอะมากเลย ดอกกุหลาบเอย แหวนเพชรเอย คำรัก อัดภาษารักไปเต็มที่ มีเงินเยอะมากในแบงค์

แต่พอคบกันไปนานๆ หลังแต่งงาน ส่วนใหญ่จะเริ่มถอนออก ถอนออกด้วยการด่ากัน ทะเลาะกัน ไม่เข้าใจกัน กระแนะกระแหน ประชดประชัน ไม่พูดคุยกัน มึนตึง มันก็เหมือนการถอนเงินออก พอถอนออกไปเยอะๆ แล้วไม่ใส่กลับเข้าไป มันก็ติดลบ

เพราะฉะนั้นชีวิตการแต่งงาน มันเหมือนการเพิ่งจะเริ่มต้นเอง ทั้งคู่ต้องหมั่นเติมความรักเสมอ เคยรักกันยังไง เข้าใจกันยังไง ก็ต้องรักกันต่อไป ไม่ใช่ว่า รักนะแต่ไม่แสดงออก มันต้องแสดงออกด้วย ต้องรู้จักใช้ภาษารักหลายๆ อย่าง แล้วก็ต้องอ่านภาษารักของอีกฝ่ายหนึ่งให้ออกด้วย เพื่อให้มีเงินในบัญชีสะสมไว้เยอะๆ และพอมีลูกขึ้นมา มันก็เหมือนเรามีบัญชีที่ 3 เพิ่มขึ้นมาเราก็ต้องใส่เงิน ใส่ความรักให้ทั่วถึงแต่ละบัญชี

หลายคนพอมีลูก เลิกใส่บัญชีให้ภรรยาเลย ใส่ให้แต่ลูก รักลูก ซื้อของก็ให้แต่ลูก ซื้ออาหารให้แต่ลูก ลืมให้ภรรยา ตัวอย่างเช่น สามีกลับมาถึงบ้าน ซื้อข้าวซื้อขนมมาให้ลูก แต่ไม่ได้ซื้อมาเผื่อภรรยา ภรรยาก็งอนน้อยใจแต่ไม่พูด ก็เป็นปัญหา ซึ่งจริงๆ แล้วเราพูดได้ อาจพูดว่า ‘แล้วของฉันล่ะ ลืมฉันแล้วเหรอ’ อาจจะงอนนิดหน่อยแต่พองาม แล้วก็บอกว่ารอบหน้าห้ามลืมอีกนะ แค่นี้ก็จบ สามีก็จะรู้ว่า อืม..เราลืมไปจริงๆ เดี๋ยวรอบหน้าค่อยซื้อมาให้ใหม่ นี่แหละคือ สิ่งที่ต้องพูด เพราะถ้าไม่พูด ไม่สื่อสาร ผู้ชายเขาอาจจะไม่รู้

ข้อสำคัญที่สุด ต้องให้อภัยซึ่งกันและกัน เพราะมันไม่มีใครถูกตลอดหรอก อยู่ด้วยกันบางทีมันก็มีกระทบกระทั่ง เหมือนลิ้นกับฟัน บางทีเขาไม่ได้มีเจตนาทำให้โกรธหรอก แต่มันเป็นความไม่เข้าใจกันมากกว่า ก็ต้องให้อภัยกัน เพราะถ้าให้อภัยกันไม่ได้ ก็อยู่กันไปแบบมีความสุขไม่ได้หรอก” หมอแอร์-อัญชุลีกล่าวทิ้งท้าย



วันพุธที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2554

เผยวิธีทำกายภาพมือง่ายๆ ก่อน "นิ้วล็อค" ถาวร!

เผยวิธีทำกายภาพมือง่ายๆ ก่อน "นิ้วล็อค" ถาวร!
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 29 กรกฎาคม 2553 06:44 น.

ปฏิเสธไม่ได้ว่า มือของคนเรา เป็นอวัยวะสำคัญที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะหยิบจับสิ่งของ หรือใช้งานในกิจอื่นๆ ทั้งเด็กที่จะต้องใช้มือเขียนหนังสือ พ่อแม่คนทำงานที่ต้องใช้มือกับแป้นพิมพ์ เขียนงานเอกสาร หรือใช้ในงานด้านต่างๆ ตลอดจนแม่บ้านที่ต้องใช้มือในการหิ้วตะกร้าจ่ายกับข้าว ชอปปิ้ง บิดผ้า

เมื่อมือ เป็นอาวุธสำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์ที่ใช้ทำงาน บางครั้งอาจถูกใช้งานอย่างหนัก โดยไม่ได้พัก หากเป็นเช่นนี้ ซ้ำๆ บ่อยๆ ย่อมมีความเสี่ยงต่อการเจ็บปวดตามมา สามารถนำพาไปสู่ภาวะนิ้วล็อค หรือ Trigger Finger ได้ในที่สุด

ในวันนี้ ทีมงาน Life and Family มี เกร็ดความรู้จากงาน "Banana Family in Love" จัดโดย Banana Family Park ภายใต้โครงการ Workshop กายภาพบำบัดสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งได้มีการพูดคุยถึงภาวะนิ้วล็อค และวิธีการดูแลมือไว้อย่างน่าสนใจ จึงนำมาฝากให้กับทุกครอบครัวไว้ปรับใช้ก่อนนิ้วล็อคถาวรกัน

หากพูดถึง ภาวะนิ้วล็อค ทีม งานได้รับความรู้ว่า เป็นกลุ่มอาการหนึ่งที่เกิดขึ้นกับกลุ่มคนที่มีการใช้มือทำงานอย่างหนัก ซึ่งจะมักมีอาการเจ็บร่วมกับมีเสียงดังกึก ทำให้เส้นเอ็นไม่โก่งตัวออกเมื่องอนิ้ว แต่เมื่อมีการอักเสบเส้นเอ็นจะบวมและหนาตัว ทำให้ลอดผ่านห่วงลำบาก จึงรู้สึกเจ็บและเกิดอาการนิ้วล็อคตามมา

โดยส่วนใหญ่เกิดในผู้หญิงอายุ 45 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะแม่บ้านที่ใช้มือทำงานอย่างหนัก เช่น หิ้วตะกร้าจ่ายกับข้าว ชอปปิ้ง บิดผ้า ส่วนในผู้ชายมักพบในอาชีพที่ใช้มือทำงานหนักๆ มีการจับ ออกแรงบีบอุปกรณ์ซ้ำๆ เช่น คนทำสวนใช้กรรไกรตัดกิ่งไม้ ช่างที่ใช้ไขควงหรือเลื่อย พนักงานพิมพ์ดีด นักกอล์ฟ เป็นต้น

นอกจากนี้ลักษณะการใช้งานของมือในแต่ละกิจกรรมจะใช้งานแต่ละนิ้วไม่ เหมือนกัน ทำให้เกิดนิ้วล็อคที่ตำแหน่งนิ้วต่างกันด้วย เช่น พ่อแม่ที่เป็นครู หรือนักบริหาร มักเป็นนิ้วล็อคที่นิ้วโป้งขวา เพราะใช้เขียนหนังสือมาก และใช้นิ้วโป้งกดปากกานานๆ ขณะที่แม่บ้านซักบิดผ้า มักเป็นที่นิ้วชี้ซ้ายและขวา แต่ทั้งนี้ภาวะดังกล่าวไม่มีอันตรายใดๆ เพียงแต่ให้ความรู้สึกเจ็บปวด และใช้มือได้ไม่ถนัด เป็นโรคที่สามารถป้องกัน และรักษาให้หายได้ ถ้ารู้จักวิธีดูแลตนเองอย่างถูกต้อง

สำหรับอาการ ในระยะแรกจะมีอาการปวดบริเวณโคนนิ้วมือ กำมือไม่ถนัด หรือกำได้ไม่เต็มที่โดยเฉพาะตอนเช้าหลังตื่นนอน พอใช้มือไปสักพักก็จะกำมือได้ดีขึ้น เวลางอที่จะเหยียดนิ้วมือมักจะได้ยินเสียงดังกึก ต่อมาจะมีอาการนิ้วล็อค คือ เวลางอนิ้วจะเหยียดขึ้นเองไม่ได้ มักเกิดกับมือข้างถนัดที่ใช้งาน ซึ่งอาจเป็นเพียงนิ้วเดียว หรือเป็นพร้อมกันหลายนิ้วก็ได้ บางรายอาจรุนแรงถึงนิ้วบวมชา ติดแข็งจนใช้งานไม่ได้

*** กายภาพมือง่ายๆ ก่อน "นิ้วล็อค" ถาวร!

1. ยืดกล้ามเนื้อแขน มือ นิ้วมือ โดยยกแขนระดับไหล่ ใช้มือข้างหนึ่งดันให้ข้อมือกระดกขึ้น-ลง ปลายนิ้วเหยียดตรงค้างไว้ นับ 1-10 แล้วปล่อยทำ 6-10 ครั้ง/เซต

2. บริหารการกำ-แบมือ โดยฝึกกำ-แบ เพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวของข้อนิ้วมือ และกำลังกล้ามเนื้อภายในมือ หรืออาจถือลูกบอลในฝ่ามือก็ได้ โดยทำ 6-10 ครั้ง/เซต

3. ท่าเพิ่มกำลังกล้ามเนื้อที่ใช้งอ-เหยียดนิ้วมือ โดยใช้ยางยืดช่วยต้าน แล้วใช้นิ้วมือเหยียดอ้านิ้วออก ค้างไว้ นับ 1-10 แล้วค่อยๆ ปล่อย ทำ 6-10 ครั้ง/เซต

*** ระวังตัวง่ายๆ ลดเสี่ยง "นิ้วล็อค"

1. ไม่หิ้วของหนักเกินไป ถ้าจำเป็นต้องหิ้วให้ใช้ผ้าขนหนูรอง และหิ้วให้น้ำหนักตกที่ฝ่ามือ อาจใช้วิธีการอุ้มประคองหรือรถเข็นลากแทน เพื่อลดการรับน้ำหนักที่นิ้วมือ

2. ควร ใส่ถุงมือ หรือห่อหุ้มด้ามจับเครื่องมือให้นุ่มขึ้นและจัดทำขนาดที่จับเหมาะแก่การใช้ งาน ขณะใช้เครื่องมือทุ่นแรง เช่น ไขควง เลื่อย ค้อน ฯลฯ

3. งานที่ต้องใช้เวลาทำงานนานต่อเนื่อง ทำให้มือเมื่อยล้า หรือระบม ควรพักมือเป็นระยะๆ และออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อมือบ้าง

4. ไม่ขยับนิ้วหรือดีดนิ้วเล่น เพราะจะทำให้เส้นเอ็นอักเสบมากยิ่งขึ้น

5. ถ้ามีข้อฝืดตอนเช้า หรือมือเมื่อยล้า ให้แช่น้ำอุ่นร่วมกับการขยับมือกำแบเบา ๆ ในน้ำ จะทำให้ข้อฝืดลดลง

ข้อมูลจากเว็บไซต์ ASTVผู้จัดการออนไลน์

จัดการอย่างไร เมื่อครอบครัวพบปัญหา "สื่อสารบกพร่อง"

จัดการอย่างไร เมื่อครอบครัวพบปัญหา "สื่อสารบกพร่อง"

โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 17 สิงหาคม 2553 06:32 น.

การสื่อสารที่ดีมีความสำคัญต่อการใช้ชีวิตคู่ของคุณอย่างยิ่ง เพราะหากคุณมีการสื่อสารที่ดีจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาจากการสื่อสารไม่ตรงกัน หรือการเข้าใจผิด คุณควรใช้การสื่อสารบอกความรักความห่วงใยที่คุณมีต่อคนรัก รวมทั้งการใช้การสื่อสารเพื่อแก้ปัญหาหรือข้อขัดแย้งต่าง ๆ ที่มีด้วย

อย่างไรก็ดี มีครอบครัวอีกจำนวนมากที่ไม่มีความสุขเหตุเพราะการสื่อสารบกพร่อง ซึ่งสาเหตุของการสื่อสารทางลบที่ไม่สร้างสรรค์ในครอบครัว อาจมาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้

- ความเข้าใจผิด ที่เกิดจากการสื่อสารบกพร่อง
- ความแตกต่างระหว่างเพศ
- มุมมองและความต้องการแตกต่างกัน
- สไตล์การสื่อสารแตกต่างกัน
- การแปลความหมายผิด
- การปกป้องตนเอง กลัวการไม่ยอมรับ


ทำความเข้าใจกับ"การสื่อสารทางลบ"

การสื่อสารทางลบจะแสดงออกทั้งภาษาท่าทาง และทางคำพูด
ในทางด้านท่าทาง เช่น การจ้องมองอย่างไม่เหมาะสม, สีหน้าบึ้งตึง, เฉยเมย, ใช้ท่าทีเย็นชา, ขาดความใกล้ชิด, ไม่มีการปฏิสัมพันธ์โดยการสัมผัส
ในทางคำพูด อาจแสดงออกโดยมีลักษณะดังนี้
- พูดไม่ชัดเจน กำกวม ไม่รู้เรื่อง
- เจ้ากี้เจ้าการ กำหนดกฎเกณฑ์ให้คนอื่นทำ เช่น ทำไมคุณไม่ไปจ่ายค่าน้ำตอนนี้เลยล่ะ
- สั่ง เป็นการกำหนดให้ต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เช่น กลับบ้านเร็วหน่อยนะวันนี้
- สอน เช่น คุณเป็นพ่อคนแล้ว น่าจะมีความรับผิดชอบมากกว่านี้
- ประชด เช่น ตะวันยังไม่ตกดินเลย ทำไมกลับมาแต่วันเชียว
- กล่าวหา เช่น คุณไม่เคยช่วยฉันเลี้ยงลูกเลย
- เปรียบเทียบ เช่น สามีของคุณเอ ไม่เห็นเขาเป็นเหมือนคุณเลย
- ติ เช่น ทำอะไรไม่เคยเรียบร้อยเลย
- บ่น เช่น พูดซ้ำ ๆ ซาก ๆ ยืดยาวในเรื่อง ๆ หนึ่ง
- ด่าว่า เช่น การใช้คำหยาบคาย ไม่สุภาพ
- ลักษณะอื่น ๆ เช่น ไม่พูดเพราะคิดว่าอีกฝ่ายรู้แล้ว, พูดผ่านคนอื่น ทำให้เกิดความเข้าใจผิด, ด่วนสรุปทั้งที่ยังฟังความไม่ครบถ้วน, แปลความหมายในเชิงลบ, ชอบพูดถึงความผิดพลาดในอดีตของอีกฝ่าย, ไม่ใส่ใจในสิ่งที่อีกฝ่ายพูด, ไม่ยอมพูดคุยกัน เพราะคิดว่าพูดทีไรก็ทะเลาะกันทุกที แต่ภายในใจอาจเต็มไปด้วยความโกรธ น้อยใจ ไม่สบายใจ เป็นต้น

การเริ่มต้นชีวิตคู่เป็นช่วงที่สำคัญมาก หากคุณเริ่มต้นด้วยการสื่อสารที่ดีมาตั้งแต่แรก ก็จะส่งผลให้คุณมีการสื่อสารที่ดีต่อไปด้วย แต่หากการสื่อสารในช่วงต้นไม่ดี ก็อาจเป็นการยากที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารให้ดีในภายหลัง

เปลี่ยนใจคู่สมรสด้วย"การสื่อสารทางบวก"

การสื่อสารทางบวกมีองค์ประกอบที่ควรแสดงออกดังนี้

- สีหน้า ยิ้มแย้มแจ่มใส แสดงออกถึงการใส่ใจรับฟัง
- การสบตา จะทำให้การพูดจาง่ายขึ้น และอาจช่วยระงับอารมณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการพูดคุยกันได้
- ท่าทาง แสดงออกว่าสนใจฟังในสิ่งที่เขาหรือเธอพูด เช่น การผงกศีรษะรับ การโน้มตัวเข้าหา
- การสัมผัส จะช่วยให้เกิดความรู้สึกทางใจ ถึงความรักใคร่ อบอุ่น และสนิทสนม เช่น การจับมือ การโอบกอด
- ระยะห่าง ควรมีการพูดคุยกันในระยะใกล้ เพื่อที่จะไม่คลาดเคลื่อนในการรับฟัง และจะได้ไม่ต้องตะโกนใส่กัน

การสื่อสารทางบวกอาจทำได้โดย

- พูดอย่างชัดเจนและตรงประเด็น
- เปิดเผยความคิดเห็นและความรู้สึกของคุณอย่างตรงไปตรงมา
- อย่าเดาใจกันเพราะอาจเกิดการเข้าใจผิด
- เรียนรู้ศิลปะในการพูดว่าสิ่งไหนควรพูด และควรพูดเมื่อไร
- เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายพูดด้วย ไม่ใช่พูดอยู่ฝ่ายเดียว
- หากจะพูดคุยเรื่องที่ขัดแย้งกัน ก็ควรเริ่มต้นการสนทนาเชิงบวกเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดี
- พยายามอย่ารื้อฟื้นเรื่องอดีต
- พยายามใช้คำพูดถึงตนเองแทนที่จะพูดถึงคนอื่น พูดว่าคุณต้องการอะไร ไม่ใช่พูดว่า เขาไม่ได้ทำอะไรให้ เช่น แทนที่จะพูดว่า รีบ ๆ หน่อยได้ไหม สายมากแล้วนะ ก็ควรพูดใหม่ว่า "ฉันกลัวว่าจะไปทำงานไม่ทัน เราอาจต้องรีบกันหน่อย"
- อย่าเงียบเมื่ออีกฝ่ายพยายามสื่อสารด้วย
- ตั้งใจฟังอย่างตั้งใจ และตั้งคำถามอย่างเหมาะสม
- ควบคุมอารมณ์ ก่อนที่จะแสดงท่าทีอะไรออกมา
- อย่าพูดแทรก ขัดคอ หรือโต้ตอบโดยที่ยังฟังไม่จบ
- พยายามทำความเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของคนรัก
- เมื่ออีกฝ่ายพูดไม่เข้าหู อย่าตีความในเชิงลบโดยทันที
- รับฟังความคิดเห็น ไม่ว่าคุณจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม


ในเมื่อคนรักของคุณคือคนสำคัญของคุณ คุณจึงควรปฏิบัติต่อคนรักของคุณให้ถูกต้อง เริ่มต้นที่การพูดจาดีต่อกัน ให้เกียรติกัน พูดคำสุภาพต่อกัน เหล่านี้เป็นแรงเสริมที่ดีในการทำให้อีกฝ่ายมีพฤติกรรมดีขึ้น การพูดอย่างมีศิลปะในสิ่งที่คุณชอบและไม่ชอบอย่างตรงไปตรงมาจะช่วยทำให้คุณ ทั้งสองทำสิ่งที่ถูกใจกันและกันมากขึ้น และการให้กำลังใจจะช่วยประคับประคองชีวิตคู่ของคุณให้มีความรักใคร่ผูกพัน เพิ่มมากขึ้น

คุณอยากให้คนรักของคุณปฏิบัติกับคุณเช่นไร ก็จงปฏิบัติเช่นนั้นกับเขาหรือเธอ การปฏิบัติที่ดีก่อน ไม่ได้ทำให้คุณเสียศักดิ์ศรีอะไรมากมายไม่ใช่หรือ เพราะการยอม (แพ้) คนรักของคุณ ท้ายที่สุดคุณจะชนะ (ใจ) เขาหรือเธออย่างแท้จริงนั่นเอง

ขอบคุณข้อมูลจากคู่มือการเสริมสร้างชีวิตคู่ สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

ขอบคุณ : ที่มา ASTVผู้จัดการออนไลน์


วันอังคารที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2554

การแก้ไขปัญหาความหงุดหงิดในชีวิตสมรส

ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.pantown.com

การแก้ปัญหาความหงุดหงิดในคู่แต่งงาน

อะไร คือความหงุดหงิดในแต่ละคน ?
1. นิสัยส่วนตัวของแต่ละคน
- แม้เป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น ความไม่เป็นระเบียบ , นิสัยขับรถ ฯลฯ
2. รสนิยมที่แตกต่างกัน
- อาจจะเป็นเรื่องรสนิยมการแต่งกาย , ชนิดเครื่องใช้ในบ้าน , วิธีจัดการกับครอบครัวและลูกที่ต่างกัน เช่น งานบ้าน นิสัยเข้าสังคมที่แตกต่างกัน , เรื่องรายละเอียด ฯลฯ

เวลาใดที่จะหงุดหงิดได้ง่ายที่สุด ?
1. เวลาหิว - อาจจะทำให้คู่สมรสทะเลาะกันได้
2. เวลาเหนื่อย - เวลาคู่สมรสกลับมาล้า เพลีย เราต้องสังเกต
3. เวลากำลังรีบร้อน
4. เวลาป่วย
5. เวลาหดหู่ใจ

หลักการที่แก้ไขปัญหาเรื่องนี้
1. ใจสร้างสันติ
- เมื่อเวลาขัดแย้งกัน เราควรตระหนักว่า เราควรสร้างสันติในครอบครัว
- การทะเลาะกัน ไม่ได้ทำให้มีความสุข ต่างคนต่างไม่สบายใจ
- ถ้าสามีเราไม่มีความสุข เราจะมีความสุขได้อย่างไร เราจึงควรรู้สึกร่วมกับคู่สมรสเราด้วย เมื่อเขามีปัญหา
- ดังนั้น ถ้าเรารู้ว่า เรายิ่งทำแบบนี้ จะยิ่งทำให้ทะเลาะกัน เราจึงควรหยุดทำ หรือหยุดพูดดีกว่า
2. ท่าทีเชื่อฟังกันและกัน
- ไม่เพียงภรรยาต้องเชื่อฟังสามี สามีต้องนบนอบ และฟังภรรยาเช่นกัน
- เราจึงควรฟังคำแนะนำ ตักเตือนของกันและกันเสมอ
- อย่าคิดว่าเรารู้ดี รู้แล้ว พูดอยู่ได้ ฯลฯ
3. ท่าทีแห่งการอดกลั้นใจ
- เมื่อเจอแรงกดดัน หรือเมื่อโกรธ เราควรจะอดกลั้นใจ เพราะเราอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายไปกันใหญ่
- การพูดเร็วไป รุนแรงไป อาจทำให้เขาเสียใจ เราต้องระวัง
- น้ำเสียงของเรา ต้องระวังไม่ให้กระด้างด้วย
- ฝึกที่จะขอโทษง่าย ๆ อย่าฟอร์ม อย่าคิดว่า เสียหน้า
4. ท่าทีแห่งความรัก
- ความรักจะแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้ง่าย
- จงสำแดงความรัก โดยเฉพาะกับคนที่ใกล้ตัว
- เข้าไปกอดเขา บอกรักเขา แสดงออกว่ารักกันทุกวัน
- อะไรที่จะช่วยครอบครัวเราได้ เราก็ต้องทำ
5. ท่าทีแห่งความถ่อมใจ
- ความหยิ่งอาจจะบดบังการอยากแสดงความรักของเรา
- ขอโทษก่อนได้ ไม่เห็นแปลก
- ถ่อมใจต่อกันและกัน

เราต้องถามตัวเราเองว่า สิ่งที่เราให้กับคู่สมรสเรา คือ สิ่งที่ดีที่สุดหรือยัง ?

การสื่อสารความคิด คำพูดในครอบครัว

ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.pantown.com

"การสื่อสารความคิดในชีวิตสมรส"
มนุษย์เกิดมา เพื่อมีความสัมพันธ์กัน และต้องสื่อสารกัน

ทำไมการสื่อสารสำคัญ ?
- คู่สมรสต้องมีการสื่อสารกัน อย่าคิดว่า คำพูดเราบางคำพูด จะไม่ตกลงในใจอีกฝ่าย เพราะบางคำพูด ฟังบ่อย ๆ
จะตกลงในใจ และกลายเป็นความขมขื่นได้
- และเมื่อการให้อภัยมาไม่ถึงจิตในเรา เมื่อนั้นเราจะมีปัญหา เช่น ภรรยาพูดจาดุด่า สามีเป็นประจำ ดูถูกเขาบ่อย ๆ
มันจะตกลงไปในใจของเขา และทำลายครอบครัวได้ หรือ สามี ชอบตำหนิแต่รูปร่างภรรยา ก็อาจจะกลายเป็นปมด้อย
ในชีวิตภรรยาได้ ขาดความมั่นใจในตนเอง
- คนสองคนจะอยู่กันได้ ต้องมีเป้าหมายเดียวกัน และการจะมีเป้าหมายเดียวกันได้ จะต้องมีข้อสรุป
ข้อตกลงในเรื่องต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น แผนอนาคต , การอยู่มีลูก , ข้อตกลงร่วมกัน , ค่าใช้จ่าย ฯลฯ

การสื่อสารความคิด คืออะไร ?
- คือ การย้ายความคิดของเราให้เขารับไว้
- ฉะนั้น เมื่อเราสื่อสาร เราต้องย้ายความคิดของเราให้เขารับไว้ อย่าเพียงแต่จับตรงคำพูด

อะไรมีอิทธิพลที่จะทำให้สื่อสารความคิดได้ดีขึ้น ?
ลักษณะชีวิต และนิสัยส่วนตัวของเรา
- คนมักจะตีความคำพูดเราด้วยจากชีวิตของเรา ดังนั้น ลักษณะชีวิตของเราจึงต้องเปลี่ยนแปลง

- ความโกรธ มีผลต่อการสื่อสาร ทำให้หลายครั้งเราสื่อสารผิดพลาด รุนแรงเกินไป
- หลายครั้ง เราต้องระวังที่จะไม่โทษกันและกัน โยนความผิด ให้อีกฝ่ายหนึ่ง โดย ไม่มองตนเอง
- คู่สมรส ไม่ควรมีความลับต่อกัน มีอะไรต้องพูดกับคู่สมรส
- เมื่อใดที่เริ่มโกหก เมื่อนั้น เริ่มมีปัญหาตามมา ดังนั้น เราจึงควรมีวัน เวลา ที่จะเปิดใจคุยกัน
- ปริมาณการสื่อสาร และคุณภาพการสื่อสาร ก็สำคัญ ไม่ใช่เพียงคำพูด แต่เป็นการแสดงออก
- บางครั้งกิจกรรมที่เราทำด้วยกัน ไม่ส่งเสริมต่อการสื่อสาร พูดคุยกันเท่าใดนัก เช่น มัวแต่ดูหนัง
จนไม่ได้พูดคุยกัน คู่สมรส อาจหาเวลาไปปิกนิก ทานข้าวร่วมกัน เต้นรำกัน ฯลฯ พูดคุยกันให้มากขึ้น
สื่อสารสิ่งที่อยู่ในใจ และความคิด
- เราจึงควรสื่อสารกัน อย่าไปเก็บกด คิดว่า ขี้เกียจพูด , ช่างมัน หรือเฉย เพราะต่อไป จะเก็บมาก ๆ เข้า
และมีปัญหาครอบครัวได้
- หลายครั้งที่ครอบครัวแตกแยก ไม่ใช่เพราะแค่ปัญหาเรื่องเดียวที่ทำให้คนทนไม่ไหว และเลิกรากัน
แต่มาจากการสะสมของปัญหาหลายอย่าง เนิ่นนาน

"การสื่อสาร" เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่แต่ละครอบครัวกำลังเผชิญแนะนำทางแก้

"การสื่อสาร" เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่แต่ละครอบครัวกำลังเผชิญแนะนำทางแก้

พบข่าวน่าสนใจ จาก น.ส.พ.ข่าวสด วันที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 16 ฉบับที่ 5766

หลากวิธีสื่อสาร เพื่อการพัฒนาเด็ก



"การ สื่อสาร" เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่แต่ละครอบครัวกำลังเผชิญและไร้ซึ่งหนทางที่จะพัฒนาหรือ แก้ไขให้ดีขึ้น จึงจบลงด้วยวิธีการเดิมๆ เช่น การทะเลาะวิวาท การใช้ความรุนแรง เป็นต้น โดยทั่วไปสิ่งที่เรารับรู้เรื่องการสื่อสารคือประกอบด้วย
1.ผู้ส่งสาร
2.สาร และ
3.ผู้รับสาร
แต่เรารู้หรือไม่ว่าผู้รับสารบางคน เมื่อส่งเรื่องราวไปแล้วต้องการการตอบสนองจากผู้ฟัง ที่ฟังอย่างตั้งใจ เข้าใจทั้งเนื้อหาและความรู้สึกที่ส่งไปพร้อมกับเนื้อหานั้นๆ โดยเฉพาะถ้าหากผู้ส่งสารนั้นเป็น "เด็ก"

การรับฟังและช่วยสะท้อนความ รู้สึกของผู้ส่งสาร เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญ เพราะช่วยให้ผู้ส่งสารได้รับรู้ด้วยว่าขณะที่ตนเองกำลังบอกเล่าเรื่องราวไป นั้น ตนมีความคิดหรือความรู้สึกอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น

ลูกบอกกับ แม่ว่าหนูไม่รักแม่แล้ว มีอะไรก็ให้น้องก่อนทุกที เมื่อแม่ฟังแต่ไม่ได้ใส่ใจในความรู้สึกของลูก อาจมองว่าลูกเป็นพี่ที่ไม่เสียสละ เอาแต่ใจ และบางทีอาจจบด้วยการดุลูก แต่ถ้าแม่ฟังและรับรู้ถึงความรู้สึกของลูกในขณะนั้นพร้อมสะท้อนความรู้สึก ของลูกให้ลูกรับรู้ จะช่วยให้อารมณ์โกรธของลูกขณะนั้นลดลง และอธิบายให้ลูกเข้าใจด้วยเหตุผลสั้นๆ ที่เหมาะกับวัยที่ลูกพอจะรับรู้ได้ ลูกก็จะเกิดความรู้สึกที่ดีที่แม่เข้าใจในตัวลูก

จิราภา เวคะวนิชย์ นักจิตวิทยา หน่วยจิตเวชเด็ก ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงอิทธิพลของการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ที่มีผลต่อการพัฒนาเด็กในหลายๆ ด้านไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

สื่อสาร...เพื่อสอนภาษา

เด็กๆ เรียนรู้ทั้งภาษาพูดและภาษาท่าทางจากสภาพแวดล้อมที่อยู่ใกล้ตัวตั้งแต่เล็กๆ แม้ตอนเล็กๆ จะไม่สามารถพูดได้แต่สัมผัสภาษาได้ด้วยภาษาท่าทางของผู้ใหญ่ เช่น การสัมผัสโอบกอด การอุ้ม การสบตา น้ำเสียงที่ได้ยิน เป็นต้น จากนั้นก็จะพัฒนาทางด้านภาษาด้วยการจดจำและเลียนแบบ ดังนั้น การที่เด็กจะเป็นคนที่พูดจาไพเราะหรือก้าวร้าวหยาบคายก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวด ล้อมที่เด็กได้รับมาตั้งแต่เล็กๆ

สื่อสาร...เพื่อความเข้าใจ

นอก จากวัยและพัฒนาการของเด็กจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กเรียนรู้เรื่องการสื่อสาร ได้อย่างเข้าใจและลึกซึ้งแล้ว อีกปัจจัยคือผู้ส่งสาร โดยเฉพาะพ่อแม่และผู้ที่ดูแลเด็กต้องมีความสามารถในการสื่อสารที่ดี ตัวอย่างเช่น ในเด็กเล็กๆ มีความเข้าใจในภาษาที่จำกัด การจะสื่อสารให้เด็กเข้าใจควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย ชัดเจน สั้น ตรงประเด็น ใช้คำที่มีความหมายในเชิงบวก ไม่ใช่การใช้คำสั่ง การบังคับ เปรียบเทียบ กล่าวตำหนิ เพราะนอกจากเด็กจะไม่เข้าใจแล้วอาจไม่ก่อให้เกิดการปฏิบัติตาม

สื่อสาร...เพื่อสอนทัศนคติที่ดีต่อการดำรงชีวิต


ทัศนคติ เป็นมุมมองที่เรามีต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง การสอนเรื่องทัศนคติให้กับเด็กควรเป็นการปลูกฝังทัศนคติที่เป็นประโยชน์ต่อ เด็ก ทั้งมุมมองต่อเรื่องทั่วๆ ไป เรื่องธรรมชาติของชีวิต คุณธรรมต่างๆ ซึ่งมีหลากหลายวิธีการสอน เช่น การเป็นแบบอย่าง พูดหรือกระทำในสิ่งที่สอดคล้องกับทัศนคติที่สอนเด็ก ใช้การเปรียบเทียบหรือยกตัวอย่างใกล้เคียงที่เด็กคุ้นเคยและเห็นเป็นรูปธรรม หรือการใช้กิจกรรมอื่น เช่น เล่านิทาน เล่าเรื่อง เพลง มาเป็นสื่อการสอน

สื่อสาร...เพื่อสอนการคิดแก้ปัญหา

คำ พูดของพ่อแม่มีผลต่อการคิดของลูก ตัวอย่างเช่น เมื่อลูกทำผิดเล็กๆ น้อยๆ ที่สามารถแก้ไขได้ แต่หากประโยคคำพูดของพ่อกับแม่เป็นการตำหนิ บวกกับการออกคำสั่งให้ลูกทำตาม โดยไม่เปิดโอกาสให้ลูกได้คิดหาวิธีการแก้ไขปัญหา เมื่อเป็นเช่นนี้เรื่อยๆ ลูกจะคิดกลัวการกระทำผิด ขาดความมั่นใจในตนเอง และไม่สามารถหาวิธีการคิดแก้ปัญหาด้วยตนเองได้ ดังนั้น การสอนให้ลูกคิดแก้ปัญหาได้พ่อแม่ควรมีทัศนคติที่ดีและยอมรับปัญหาที่เกิด ขึ้นในแง่ดีว่าเป็นการฝึกให้ลูกรู้จักคิด มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนและฝึกการตั้งคำถามเพื่อฝึกให้ลูกได้คิดและทำ

สื่อสาร...เพื่อสอนเรื่องอารมณ์ และหาทางออกที่เหมาะสม

เป็น การสื่อสารที่ให้เด็กเข้าใจเรื่องธรรมชาติของอารมณ์ที่เกิดขึ้น ให้เด็กเข้าใจในอารมณ์ตัวเองและรู้คำเรียกเกี่ยวกับอารมณ์ เช่นในเด็กเล็ก พ่อแม่ใช้การสังเกตกิริยาท่าทางที่เด็กแสดงออกในภาวะที่มีอะไรบางอย่างมากระ ทบ แล้วสะท้อนให้เด็กรู้ว่าขณะนี้ลูกอยู่ในภาวะอารมณ์อย่างไร เช่น กำลังโกรธ ตกใจ ดีใจ หงุดหงิด กลัว รวมถึงสื่อสารให้เด็กรับรู้ถึงวิธีระบายอารมณ์อย่างเหมาะสมเมื่อเด็กอยู่ใน ภาวะที่มีอารมณ์รุนแรง

แม้ปัจจัยพื้นฐาน เช่น ปัจจัยสี่จะเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต แต่ "การสื่อสารที่ดีภายในครอบครัว" ก็นับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่นับว่ามีความสำคัญและจำเป็นอย่างมากที่จะช่วย เติมเต็มให้ครอบครัวมีความสุข และอยู่กันอย่างเข้าใจมากขึ้น ประการสำคัญคือยังเป็นจุดเริ่มต้นของการตัดวงจรของความรุนแรงที่เกิดขึ้นภาย ในครอบครัว โดยเฉพาะความรุนแรงที่นำมาสู่การทำร้ายเด็กทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลายครอบครัวไม่อยากให้เกิดขึ้นทั้งในครอบครัวของตนเอง ชุมชนและในสังคม

สำหรับผู้สนใจปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องครอบครัวและเด็ก หรือสนใจจุลสาร "ทอฝันปันรัก" สื่อเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและครอบครัวหรือปรึกษาพฤติกรรมเด็ก ติดต่อ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก

โทร. 0-2412-0738 0-2412-9834 หรือ http://www.thaichildrights.org

วันอาทิตย์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2554

ทรัพย์สินทางปัญญากับ Software Computer

ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.mahamodo.com/modo/License.asp

ทรัพย์สินทางปัญญา
คือ "ทรัพย์สินที่ไม่ใช่วัตถุทางกายภาพ แต่เจ้าของมีสิทธิโดยชอบธรรม ที่จะให้, ให้เช่า, โอนมอบอำนาจ, หรือใช้เป็นสินจำนองได้"

ทรัพย์สินทางปัญญากับ Software Computer
ในส่วนของทรัพย์สินทางปัญญากับ Software Computer เราจะกล่าวเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์เท่านั้น ซึ่งมีดังต่อไปนี้

1. ลิขสิทธิ์ (Copyright)
(สิทธิในการเป็นเจ้าของความคิด ที่คิดค้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปจดทะเบียน)

2. สิทธบัตร (Patents)
(สิทธิในความเป็นเจ้าของความคิด หรือผลิตภัณฑ์ที่คิดค้นได้ แต่ทว่าจะต้องไปจดทะเบียนเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของเพื่อผลทางการค้าหรืออื่นๆ )

3. เครื่องหมายการค้า (Trade Mark)
(เป็นตัวแสดงถึง ความเป็นผู้นำทางด้านสินค้านั้น ซึ่งจะใช้ตัวย่อ TM กำกับบนชื่อสินค้านั้น ๆ เสมอ)

4. ความลับทางการค้า (Trade Secrets)
(ความลับในสูตร หรือขั้นตอนในการผลิตที่เป็นเฉพาะ)

ในเรื่องของทรัพย์สินทางปัญญากับ Software computer เราจัดว่าอยู่ในกลุ่มของทรัพย์สินทางปัญญาประเภทลิขสิทธิ์ โดยผู้ที่ดูแลเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย คือ สำนักงานสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญาสังกัดกระทรวงพาณิชย์นั้นเอง

ความเป็นมาของ พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์
พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ลิขสิทธิ์ มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2521 แล้ว แต่ทว่า พ.ร.บ. ในสมัยนั้นไม่ได้รวมความคุ้มครองเรื่อง Software Computer เอาไว้ และได้เริ่มรวมคุ้มครองลิขสิทธิ์ Software Computer เข้ากับ พ.ร.บ. นี้เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2538 เป็นต้นมา

ดังนั้นหาก Software Computer ใดกระทำการซ้ำ ดัดแปลง คัดลอก ก่อนหน้าวันที่ 21 มีนาคม 2538 ก็ถือว่ากระทำผิดต่อพระราชบัญญัตินี้

การกระทำอย่างไรถือว่าผิด พ.ร.บ. นี้
การทำซ้ำ คือ "การคัดลอกหรือทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จากสื่อบันทึกใด ไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำขึ้นใหม่ ทั้งนี้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

การดัดแปลง คือ "ทำซ้ำโดยเปลี่ยนแปลงรูปใหม่ ปรับปรุงแก้ไข เพิ่มเติม หรือจำลองงานต้นฉบับ ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำขึ้นใหม่"


ข้อยกเว้นใน พ.ร.บ. นี้
1.วิจัยหรือศึกษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น
2.ใช้เพื่อประโยชน์ของเจ้าของสำเนาโปรแกรม
3.ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงาน โดยมีการรับรู้ถึงเจ้าของลิขสิทธิ์
4.เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชน โดยมีการรับรู้ถึงเจ้าของลิขสิทธิ์
5.สำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในจำนวนที่สมควร โดยบุคคลผู้ซึ่งได้ซื้อหรือได้รับสิทธิ์อย่างถูกต้อง เพื่อเก็บไว้ใช้ประโยชน์ในการบำรุงรักษาหรือป้องกันการสูญหาย
6.ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาล หรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือใช้รายงานผลการพิจารณาดังกล่าว
7.นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ
8.ดัดแปลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในกรณีที่จำเป็นแก่การใช้
9.จัดทำ สำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อเก็บรักษาไว้สำหรับอ้างอิงหรือค้นคว้าหรือประโยชน์ของสาธารณชน

ระยะเวลาคุ้มครองตาม พ.ร.บ. นี้
บุคคลธรรมดา คุ้มครองตลอดชีวิตและอีก 50 ปีหลังจากที่เสียชีวิต
นิติบุคคล คุ้มครอง 50 ปี หรือตั้งแต่ที่เริ่มประกาศ (โฆษณา)


โทษของการละเมิดลิขสิทธิ์
ในกรณีที่เราละเมิดลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ. นี้ มีโทษปรับระหว่าง 20,000 - 200,000 บาท แต่ทว่าหากการละเมิดนั้นเป็นการกระทำเพื่อการค้า ปรับระหว่าง 100,000 - 800,000 บาท โทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปีหรือทั้งจำทั้งปรับ


พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537

พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์พ.ศ. 2537 ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.ให้ไว้ ณ วันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2537เป็นปีที่ 49 ในรัชกาลปัจจุบัน

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537"

มาตรา 2
พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วัน ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา 3
ให้ยกเลิกพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521

มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้

"ผู้สร้างสรรค์"
หมายความว่า ผู้ทำหรือผู้ก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์อย่างใด อย่างหนึ่งที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
"ลิขสิทธิ์" หมายความว่า สิทธิแต่ผู้เดียวที่จะทำการใด ๆ ตามพระราชบัญญัตินี้ เกี่ยวกับงานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้น

"วรรณกรรม" หมายความว่า งานนิพนธ์ที่ทำขึ้นทุกชนิด เช่น หนังสือ จุลสาร สิ่งเขียน สิ่งพิมพ์ ปาฐกถา เทศนา คำปราศรัย สุนทรพจน์ และให้หมายความรวมถึง โปรแกรมคอมพิวเตอร์ด้วย
"โปรแกรมคอมพิวเตอร์" หมายความว่า คำสั่ง ชุดคำสั่งหรือสิ่งอื่นใด ที่นำไปใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานหรือเพื่อให้ได้รับผล อย่างหนึ่งอย่างใด ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นภาษาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในลักษณะใด
"นาฏกรรม" หมายความว่า งานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า หรือ การแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว และให้หมายความรวมถึงการแสดงโดยวิธีใบ้ด้วย
"ศิลปกรรม" หมายความว่า งานอันมีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใดหรือ หลายอย่างดังต่อไปนี้
(1) งานจิตรกรรม ได้แก่งานสร้างสรรค์รูปทรงที่ประกอบด้วยเส้น แสง สี หรือสิ่งอื่น อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ลงบนวัสดุอย่างเดียว หรือหลายอย่าง
(2) งานประติมากรรม ได้แก่งานสร้างสรรค์รูปทรงที่เกี่ยวกับปริมาตร ที่สัมผัสและจับต้องได้
(3) งานภาพพิมพ์ ได้แก่งานสร้างสรรค์ภาพด้วยกรรมวิธีทางการพิมพ์ และหมายความรวมถึงแม่พิมพ์หรือแบบพิมพ์ที่ใช้ในการพิมพ์ด้วย
(4) งานสถาปัตยกรรม ได้แก่งานออกแบบอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง งานออกแบบตกแต่งภายในหรือภายนอก ตลอดจนบริเวณของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างหรือ การสร้างสรรค์หุ่นจำลองของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง
(5) งานภาพถ่าย ได้แก่งานสร้างสรรค์ภาพที่เกิดจากการใช้เครื่องมือ บันทึกภาพโดยให้แสงผ่านเลนซ์ไปยังฟิล์มหรือกระจก และล้างด้วยน้ำยาซึ่งมีสูตรเฉพาะ หรือด้วยกรรมวิธีใด ๆ อันทำให้เกิดภาพขึ้น หรือการบันทึกภาพโดยเครื่องมือหรือวิธีการ อย่างอื่น
(6) งานภาพประกอบ แผนที่ โครงสร้าง ภาพร่าง หรืองานสร้างสรรค์ รูปทรงสามมิติอันเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ หรือวิทยาศาสตร์
(7) งานศิลปประยุกต์ ได้แก่งานที่นำเอางานตาม (1) ถึง (6) อย่างใด อย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น นอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่า ของตัวงานดังกล่าวนั้น เช่น นำไปใช้สอย นำไปตกแต่งวัสดุหรือสิ่งของอันเป็นเครื่องใช้ หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า
ทั้งนี้ ไม่ว่างานตาม (1) ถึง (7) จะมีคุณค่าทางศิลปะหรือไม่ และให้ หมายความรวมถึงภาพถ่ายและแผนผังของงานดังกล่าวด้วย
"ดนตรีกรรม" หมายความว่า งานเกี่ยวกับเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อบรรเลง หรือขับร้องไม่ว่าจะมีทำนองและคำร้องหรือมีทำนองอย่างเดียว และให้หมายความรวมถึง โน้ตเพลงหรือแผนภูมิเพลงที่ได้แยกและเรียบเรียงเสียงประสานแล้ว
"โสตทัศนวัสดุ" หมายความว่า งานอันประกอบด้วยลำดับของภาพโดยบันทึก ลงในวัสดุไม่ว่าจะมีลักษณะอย่างใด อันสามารถที่จะนำมาเล่นซ้ำได้อีก โดยใช้เครื่องมือ ที่จำเป็นสำหรับการใช้วัสดุนั้น และให้หมายความรวมถึงเสียงประกอบงานนั้นด้วย ถ้ามี
"ภาพยนตร์" หมายความว่า โสตทัศนวัสดุอันประกอบด้วยลำดับของภาพ ซึ่งสามารถนำออกฉายต่อเนื่องได้อย่างภาพยนตร์หรือสามารถบันทึกลงบนวัสดุอื่น เพื่อนำออก ฉายต่อเนื่องได้อย่างภาพยนตร์ และให้หมายความรวมถึงเสียงประกอบภาพยนตร์นั้นด้วย ถ้ามี
"สิ่งบันทึกเสียง" หมายความว่า งานอันประกอบด้วยลำดับของเสียงดนตรี เสียงการแสดง หรือเสียงอื่นใด โดยบันทึกลงในวัสดุไม่ว่าจะมีลักษณะใด ๆ อันสามารถที่จะ นำมาเล่นซ้ำได้อีกโดยใช้เครื่องมือที่จำเป็นสำหรับการใช้วัสดุนั้น แต่ทั้งนี้มิให้หมายความ รวมถึงเสียงประกอบภาพยนตร์หรือเสียงประกอบโสตทัศนวัสดุอย่างอื่น
"นักแสดง" หมายความว่า ผู้แสดง นักดนตรี นักร้อง นักเต้น นักรำ และผู้ซึ่ง แสดงท่าทาง ร้อง กล่าว พากย์ แสดงตามบทหรือในลักษณะอื่นใด
"งานแพร่เสียงแพร่ภาพ" หมายความว่า งานที่นำออกสู่สาธารณชนโดย การแพร่เสียงทางวิทยุกระจายเสียง การแพร่เสียงและหรือภาพทางวิทยุโทรทัศน์หรือ โดยวิธีอย่างอื่นอันคล้ายคลึงกัน
"ทำซ้ำ" หมายความรวมถึง คัดลอกไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ เลียนแบบ ทำสำเนา ทำแม่พิมพ์ บันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกเสียงและภาพ จากต้นฉบับ จากสำเนา หรือจากการโฆษณาในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน สำหรับ ในส่วนที่เกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้หมายความถึง คัดลอกหรือทำสำเนา โปรแกรมคอมพิวเตอร์จากสื่อบันทึกใด ไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
"ดัดแปลง" หมายความว่า ทำซ้ำโดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม หรือจำลองงานต้นฉบับในส่วนอันเป็นสาระสำคัญโดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(1) ในส่วนที่เกี่ยวกับวรรณกรรม ให้หมายความรวมถึง แปลวรรณกรรม เปลี่ยนรูปวรรณกรรมหรือรวบรวมวรรณกรรมโดยคัดเลือกและจัดลำดับใหม่
(2) ในส่วนที่เกี่ยวกับโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ให้หมายความรวมถึง ทำซ้ำ โดยเปลี่ยนรูปใหม่ ปรับปรุง แก้ไขเพิ่มเติมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในส่วนอันเป็นสาระสำคัญ โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำขึ้นใหม่
(3) ในส่วนที่เกี่ยวกับนาฏกรรม ให้หมายความรวมถึง เปลี่ยนงานที่มิใช่ นาฏกรรมให้เป็นนาฏกรรม หรือเปลี่ยนนาฏกรรมให้เป็นงานที่มิใช่นาฏกรรม ทั้งนี้ ไม่ว่า ในภาษาเดิมหรือต่างภาษากัน
(4) ในส่วนที่เกี่ยวกับศิลปกรรม ให้หมายความรวมถึง เปลี่ยนงานที่เป็น รูปสองมิติหรือสามมิติ ให้เป็นรูปสามมิติหรือสองมิติ หรือทำหุ่นจำลองจากงานต้นฉบับ
(5) ในส่วนที่เกี่ยวกับดนตรีกรรม ให้หมายความรวมถึง จัดลำดับเรียบเรียง เสียงประสานหรือเปลี่ยนคำร้องหรือทำนองใหม่
"เผยแพร่ต่อสาธารณชน" หมายความว่า ทำให้ปรากฏต่อสาธารณชน โดยการแสดง การบรรยาย การสวด การบรรเลง การทำให้ปรากฏด้วยเสียงและ หรือภาพ การก่อสร้าง การจำหน่าย หรือโดยวิธีอื่นใดซึ่งงานที่ได้จัดทำขึ้น
"การโฆษณา" หมายความว่า การนำสำเนาจำลองของงานไม่ว่าในรูป หรือลักษณะอย่างใดที่ทำขึ้นโดยความยินยอมของผู้สร้างสรรค์ออกจำหน่าย โดยสำเนา จำลองนั้นมีปรากฏต่อสาธารณชนเป็นจำนวนมากพอสมควรตามสภาพของงานนั้น แต่ทั้งนี้ไม่หมายความรวมถึง การแสดงหรือการทำให้ปรากฏซึ่งนาฏกรรม ดนตรีกรรม หรือภาพยนตร์ การบรรยายหรือการปาฐกถา ซึ่งวรรณกรรม การแพร่เสียงแพร่ภาพ เกี่ยวกับงานใด การนำศิลปกรรมออกแสดงและการก่อสร้างงานสถาปัตยกรรม
"พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการ ตามพระราชบัญญัตินี้
"อธิบดี" หมายความว่า อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา และให้หมายความ รวมถึงผู้ซึ่งอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญามอบหมายด้วย
"คณะกรรมการ" หมายความว่า คณะกรรมการลิขสิทธิ์
"รัฐมนตรี" หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ กับออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการ ตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้นเมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

มาตรา 6 งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ ได้แก่งานสร้างสรรค์ ประเภทวรรณกรรม นาฏกรรม ศิลปกรรม ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง งานแพร่เสียงแพร่ภาพ หรืองานอื่นใดในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ ของผู้สร้างสรรค์ไม่ว่างานดังกล่าวจะแสดงออกโดยวิธีหรือรูปแบบอย่างใด
การคุ้มครองลิขสิทธิ์ไม่คลุมถึงความคิด หรือขั้นตอน กรรมวิธีหรือระบบ หรือวิธีใช้หรือทำงาน หรือแนวความคิด หลักการ การค้นพบ หรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์

มาตรา 7
สิ่งต่อไปนี้ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้
(1) ข่าวประจำวัน และข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีลักษณะเป็นเพียงข่าวสาร อันมิใช่งานในแผนกวรรณคดี แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ
(2) รัฐธรรมนูญ และกฎหมาย
(3) ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง คำชี้แจง และหนังสือโต้ตอบ ของกระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่น
(4) คำพิพากษา คำสั่ง คำวินิจฉัย และรายงานของทางราชการ
(5) คำแปลและการรวบรวมสิ่งต่าง ๆ ตาม (1) ถึง (4) ที่กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นจัดทำขึ้น

ส่วนที่ 2 การได้มาซึ่งลิขสิทธิ์
มาตรา 8 ให้ผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้น ภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) ในกรณีที่ยังไม่ได้มีการโฆษณางาน ผู้สร้างสรรค์ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย หรืออยู่ในราชอาณาจักรหรือเป็นผู้มีสัญชาติหรืออยู่ในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วย การคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ตลอดระยะเวลาหรือเป็นส่วนใหญ่ ในการสร้างสรรค์งานนั้น
(2) ในกรณีที่ได้มีการโฆษณางานแล้ว การโฆษณางานนั้นในครั้งแรกได้ กระทำขึ้นในราชอาณาจักรหรือในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครอง ลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย หรือในกรณีที่การโฆษณาครั้งแรกได้กระทำนอก ราชอาณาจักรหรือในประเทศอื่นที่ไม่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย หากได้มีการโฆษณางานดังกล่าวในราชอาณาจักรหรือ ในประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี อยู่ด้วยภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้มีการโฆษณาครั้งแรก หรือผู้สร้างสรรค์เป็นผู้มีลักษณะ ตามที่กำหนดไว้ใน (1) ในขณะที่มีการโฆษณางานครั้งแรก
ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย ถ้าผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล นิติบุคคลนั้นต้องเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

มาตรา 9 งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ให้ลิขสิทธิ์ในงานนั้นเป็นของผู้สร้างสรรค์ แต่นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ตามที่เป็นวัตถุประสงค์แห่งการจ้าง แรงงานนั้น

มาตรา 10 งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการรับจ้างบุคคลอื่น ให้ผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานนั้น เว้นแต่ผู้สร้างสรรค์และผู้ว่าจ้างจะได้ตกลงกันไว้ เป็นอย่างอื่น

มาตรา 11 งานใดมีลักษณะเป็นการดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ตาม พระราชบัญญัตินี้โดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ ให้ผู้ที่ได้ดัดแปลงนั้นมีลิขสิทธิ์ในงาน ที่ได้ดัดแปลงตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ ที่มีอยู่ในงานของผู้สร้างสรรค์เดิมที่ถูกดัดแปลง

มาตรา 12 งานใดมีลักษณะเป็นการนำเอางานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ มารวบรวมหรือประกอบเข้ากันโดยได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือเป็นการนำเอา ข้อมูลหรือสิ่งอื่นใดซึ่งสามารถอ่านหรือถ่ายทอดได้โดยอาศัยเครื่องกลหรืออุปกรณ์อื่นใด มารวบรวมหรือประกอบเข้ากัน หากผู้ที่ได้รวบรวมหรือประกอบเข้ากันได้รวบรวมหรือ ประกอบเข้ากันซึ่งงานดังกล่าวขึ้นโดยการคัดเลือกหรือจัดลำดับในลักษณะซึ่งมิได้ลอกเลียน งานของบุคคลอื่น ให้ผู้ที่ได้รวบรวมหรือประกอบเข้ากันนั้นมีลิขสิทธิ์ในงานที่ได้รวบรวมหรือ ประกอบเข้ากันตามพระราชบัญญัตินี้ แต่ทั้งนี้ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ ที่มีอยู่ในงาน หรือข้อมูลหรือสิ่งอื่นใด ของผู้สร้างสรรค์เดิมที่ถูกนำมารวบรวมหรือประกอบ เข้ากัน

มาตรา 13 ให้นำ มาตรา 8 มาตรา 9 และ มาตรา 10 มาใช้บังคับ แก่การมีลิขสิทธิ์ตาม มาตรา 11 หรือ มาตรา 12 โดยอนุโลม

มาตรา 14
กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือ ของท้องถิ่นย่อมมีลิขสิทธิ์ในงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการจ้างหรือตามคำสั่งหรือ ในความควบคุมของตน เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นเป็นลายลักษณ์อักษร

ส่วนที่ 3 การคุ้มครองลิขสิทธิ์
มาตรา 15 ภายใต้บังคับ มาตรา 9 มาตรา 10 และ มาตรา 14 เจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมมีสิทธิแต่ผู้เดียวดังต่อไปนี้
(1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง
(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
(3) ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ และสิ่งบันทึกเสียง
(4) ให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์แก่ผู้อื่น
(5) อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตาม (1) (2) หรือ (3) โดยจะกำหนด เงื่อนไขอย่างใดหรือไม่ก็ได้ แต่เงื่อนไขดังกล่าวจะกำหนดในลักษณะที่เป็นการจำกัด การแข่งขันโดยไม่เป็นธรรมไม่ได้
การพิจารณาว่าเงื่อนไขตามวรรคหนึ่ง (5) จะเป็นการจำกัดการแข่งขัน โดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 16 ในกรณีที่เจ้าของลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ได้อนุญาตให้ผู้ใด ใช้สิทธิตาม มาตรา 15 (5) ย่อมไม่ตัดสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ที่จะอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธินั้น ได้ด้วย เว้นแต่ในหนังสืออนุญาตได้ระบุเป็นข้อห้ามไว้

มาตรา 17 ลิขสิทธิ์นั้นย่อมโอนให้แก่กันได้
เจ้าของลิขสิทธิ์อาจโอนลิขสิทธิ์ของตนทั้งหมดหรือแต่บางส่วนให้แก่บุคคลอื่นได้ และจะโอนให้โดยมีกำหนดเวลาหรือตลอดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ก็ได้
การโอนลิขสิทธิ์ตามวรรคสองซึ่งมิใช่ทางมรดกต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อ ผู้โอนและผู้รับโอน ถ้าไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ในสัญญาโอน ให้ถือว่าเป็นการโอนมีกำหนด ระยะเวลาสิบปี

มาตรา 18 ผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้มีสิทธิที่จะแสดงว่า ตนเป็นผู้สร้างสรรค์งานดังกล่าว และมีสิทธิที่จะห้ามมิให้ผู้รับโอนลิขสิทธิ์หรือบุคคลอื่นใดบิดเบือน ตัดทอน ดัดแปลงหรือทำโดยประการอื่นใดแก่งานนั้นจนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง หรือ เกียรติคุณของผู้สร้างสรรค์ และเมื่อผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตายทายาทของผู้สร้างสรรค์มี สิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับตามสิทธิดังกล่าวได้ตลอดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ทั้งนี้ เว้นแต่ จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นเป็นลายลักษณ์อักษร


ส่วนที่ 4 อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์
มาตรา 19 ภายใต้บังคับ มาตรา 21 และ มาตรา 22 ลิขสิทธิ์ตาม พระราชบัญญัตินี้ให้มีอยู่ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย
ในกรณีที่มีผู้สร้างสรรค์ร่วม ลิขสิทธิ์ในงานดังกล่าวให้มีอยู่ตลอดอายุของ ผู้สร้างสรรค์ร่วม และมีอยู่ต่อไปอีกเป็นเวลาห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ร่วมคนสุดท้ายถึงแก่ ความตาย
ถ้าผู้สร้างสรรค์หรือผู้สร้างสรรค์ร่วมทุกคนถึงแก่ความตายก่อนที่ได้มีการโฆษณา งานนั้น ให้ลิขสิทธิ์ดังกล่าวมีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก
ในกรณีที่ผู้สร้างสรรค์เป็นนิติบุคคล ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ ได้สร้างสรรค์ขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มี อายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก

มาตรา 20 งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดย ผู้สร้างสรรค์ใช้นามแฝงหรือไม่ปรากฏชื่อผู้สร้างสรรค์ ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปี นับแต่ได้ สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก
ในกรณีที่รู้ตัวผู้สร้างสรรค์ ให้นำ มาตรา 19 มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา 21 ลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่าย โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพให้มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้ มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปี นับแต่ได้มี การโฆษณาเป็นครั้งแรก

มาตรา 22 ลิขสิทธิ์ในงานศิลปประยุกต์ให้มีอายุยี่สิบห้าปีนับแต่ได้สร้างสรรค์ งานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุ ยี่สิบห้าปีนับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก

มาตรา 23 ลิขสิทธิ์ในงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการจ้างหรือตามคำสั่ง หรือในความควบคุมตาม มาตรา 14 ให้มีอายุห้าสิบปีนับแต่ได้สร้างสรรค์งานนั้นขึ้น แต่ถ้าได้มีการโฆษณางานนั้นในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ให้ลิขสิทธิ์มีอายุห้าสิบปี นับแต่ได้มีการโฆษณาเป็นครั้งแรก

มาตรา 24 การโฆษณางานตาม มาตรา 19 มาตรา 20 มาตรา 21 มาตรา 22 หรือ มาตรา 23 อันเป็นการเริ่มนับอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ หมายความถึง การนำงานออกทำการโฆษณาโดยความยินยอมของเจ้าของลิขสิทธิ์

มาตรา 25 เมื่ออายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ครบกำหนดในปีใด ถ้าวันครบ กำหนดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ไม่ตรงกับวันสิ้นปีปฏิทิน หรือในกรณีที่ไม่อาจทราบ วันครบกำหนดอายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ที่แน่นอน ให้ลิขสิทธิ์ยังคงมีอยู่ต่อไปจนถึงวันสิ้นปี ปฏิทินของปีนั้น

มาตรา 26 การนำงานอันมีลิขสิทธิ์ออกทำการโฆษณาภายหลังจากที่ อายุแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์สิ้นสุดลงไม่ก่อให้เกิดลิขสิทธิ์ในงานนั้น ๆ ขึ้นใหม่

ส่วนที่ 5 การละเมิดลิขสิทธิ์
มาตรา 27 การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ โดยไม่ได้รับอนุญาตตาม มาตรา 15 (5) ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำ ดังต่อไปนี้
(1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง
(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน

มาตรา 28 การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ หรือสิ่งบันทึกเสียง อันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้โดยไม่ได้รับอนุญาตตาม มาตรา 15 (5) ทั้งนี้ ไม่ว่าในส่วนที่เป็นเสียงและหรือภาพ ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำ ดังต่อไปนี้
(1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง
(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
(3) ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าว

มาตรา 29 การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานแพร่เสียง แพร่ภาพอันมี ลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้โดยไม่ได้รับอนุญาตตาม มาตรา 15 (5) ให้ถือว่าเป็นการ ละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(1) จัดทำโสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ สิ่งบันทึกเสียง หรืองานแพร่เสียงแพร่ภาพ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(2) แพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำ ทั้งนี้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
(3) จัดให้ประชาชนฟังและหรือชมงานแพร่เสียงแพร่ภาพ โดยเรียก เก็บเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นในทางการค้า

มาตรา 30 การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่โปรแกรมคอมพิวเตอร์อันมี ลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้โดยไม่ได้รับอนุญาตตาม มาตรา 15 (5) ให้ถือว่าเป็นการ ละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง
(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
(3) ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าว

มาตรา 31 ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานใดได้ทำขึ้นโดยละเมิด ลิขสิทธิ์ของผู้อื่น กระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานนั้นเพื่อหากำไร ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำการ ละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(1) ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย ให้เช่า เสนอให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือ เสนอให้เช่าซื้อ
(2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน
(3) แจกจ่ายในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์
(4) นำหรือสั่งเข้ามาในราชอาณาจักร

'ฝึกขมิบบ่อยๆ' มดลูกไม่หย่อน เพิ่มสุขเรื่องบนเตียง

'ฝึกขมิบบ่อยๆ' มดลูกไม่หย่อน เพิ่มสุขเรื่องบนเตียง
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 23 พฤศจิกายน 2552 12:03 น.

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นอกจากการบริหารกล้ามเนื้อรอบช่อง คลอดด้วยการขมิบ จะช่วยลดภาวะปัสสาวะเล็ดขณะมีการไอ หรือจามแล้ว การบริหารกล้ามเนื้อรอบช่องคลอด ยังช่วยเพิ่มความตึงตัวของกล้ามเนื้อในบริเวณรอบ ๆ ช่องคลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อน และหลังคลอด ป้องกันการหย่อนตัวของมดลูกได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญยังช่วยให้กล้ามเนื้อหดตัวขณะถึงจุดสุดยอดได้ดีขึ้นด้วย ซึ่งมีผลต่อการมีเพศสัมพันธ์ ทำให้คู่สมรสมีความพึงพอใจ

สำหรับวิธีการบริหารข้างต้น ทีมงาน Life and Family ได้รับข้อมูลจากโรงพยาบาลบีเอ็นเอช ซึ่งถูกคิดค้น และออกแบบการฝึกโดย Dr.Arnold Kegel สูตินรีแพทย์ ซึ่งใช้ชื่อการฝึกว่า Kegel เป็นวิธีบริหารที่เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่มีชื่อว่า Pubococcygeus (กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน) ที่อยู่ใต้กระดูกหัวหน่าว มีลักษณะเป็นวงล้อมรอบท่อปัสสาวะ ช่องคลอด และทวารหนัก

การบริหารกล้ามเนื้อรอบช่องคลอด มี 2 วิธี

1. ให้ทดสอบในขณะเข้าห้องน้ำปัสสาวะ โดยนั่งยองๆ หรือ นั่งบนโถปัสสาวะในลักษณะแยกขาออก ในขณะปัสสาวะนั้นให้กลั้นปัสสาวะโดยบริหาร (ขมิบ) กล้ามเนื้อรอบ ๆ ช่องคลอด โดยไม่เกร็งหน้าท้องและหลัง หายใจเข้าออกลึกๆ และไม่ขยับขาทั้ง 2 ข้าง เพื่อไม่ให้ใช้กล้ามเนื้อมัดอื่นช่วย ถ้าสามารถขมิบกล้ามเนื้อ และทำให้ปัสสาวะหยุดไหลได้ แสดงว่าขมิบกล้ามเนื้อ Pubococcygeus ถูกต้องแล้ว ให้จำความรู้สึกของการบริหารกล้ามเนื้อนั้นไว้

แต่การฝึกจริงๆ ให้ทำขณะที่ไม่ปวดปัสสาวะ เพราะถ้ามีปัสสาวะเต็มกระเพาะปัสสาวะอยู่อาจทำให้ปัสสาวะไหลย้อนไปยังไตเกิด การอักเสบตามมาได้

2. ให้เอานิ้วชี้ที่สะอาดสอดเข้าไปในช่องคลอดแล้วขมิบกล้ามเนื้อรอบๆ ช่องคลอด โดยไม่ขยับขาทั้ง 2 ข้าง ไม่เกร็งหน้าท้อง และหลัง แล้วให้จำความรู้สึกของการบริหารกล้ามเนื้อนั้นไว้ สำหรับในกรณีที่มีปัญหาไม่สามารถฝึกขมิบได้ควรปรึกษาสูติ-นรีแพทย์ ศัลยแพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ หรือแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู เพื่อช่วยในการฝึกขมิบกล้ามเนื้อให้ถูกต้อง

วิธีฝึกบริหารกล้ามเนื้อรอบช่องคลอด

สำหรับวิธีการฝึกบริหารกล้ามเนื้อรอบช่องคลอด ให้เลือกจากวิธีข้างต้น วิธีใดวิธีหนึ่งแล้วแต่ถนัด โดยมีหลักง่ายๆ คือ

- ให้ขมิบไว้นาน 10 วินาทีหรือเท่ากับนับเลข 1-10

- จากนั้นคลายนานเท่ากับการนับ 1-10 ขมิบ 1 ครั้ง แล้วคลาย 1 ครั้งนับ เป็น 1 เที่ยว โดยให้ทำเป็นชุด ๆ ละ 50-75 เที่ยว

- ในกรณีที่ไม่สะดวกในการนับเที่ยวของการขมิบให้ใช้จับเวลาก็ได้โดยใช้เวลาชุด ละ 15-20 นาที ให้ทำวันละ 3 ชุด อาจทำในท่านั่งหรือนอนก็ได้

ภาพก่อน-หลังการขมิบ (ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต)
แต่สำหรับท่าที่มีความเหมาะสมมากที่ สุดสำหรับการฝึกบริหารกล้ามเนื้อรอบช่องคลอดคือ ท่ายืน เพราะเป็นท่าที่มีความดันบนกระเพาะปัสสาวะมากที่สุดและเป็นท่าที่มีปัสสาวะ เล็ดเวลาไอจามมากที่สุด (อย่างน้อยควรจะทำในท่ายืน 1 ชุดต่อวัน)

นอกจากท่าขมิบดังกล่าวแล้วอาจต้องฝึกขมิบแบบสั้น ๆ และแรงมากกว่าเพื่อเตรียมไว้สำหรับใช้เวลาไอ จาม ไม่ให้ปัสสาวะเล็ด แต่การขมิบแบบรุนแรงระยะสั้นนี้ให้ใช้เวลาครั้งละไม่เกิน 1 หรือ 2 วินาที และที่สำคัญ การฝึกบริหารกล้ามเนื้อรอบช่องคลอดที่ดีควรทำอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ โดยจะเห็นผลหลังจากฝึกการบริหารประมาณ 6-12 สัปดาห์ และไม่ควรหยุดการบริหารถึงแม้ว่าจะเห็นผลแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ดี ควรทำในสตรีทุกวัย หรือแม้แต่สตรีที่อยู่ในช่วงอายุน้อย ก็สามารถฝึกบริหารได้เช่นกัน ซึงจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับสตรีที่ยังไม่เคยมีบุตร และสตรีที่ผ่านการมีบุตรแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว จะช่วยในการมีเพศสัมพันธ์ดีขึ้นและป้องกันในการหย่อนตัวของมดลูก ทวารหนัก และกระเพาะปัสสาวะในระยะยาว

และด้านคุณแม่ ที่กำลังเย็บซ่อมแซมช่องคลอดหลังจากคลอดลูกแล้ว อย่าลืมขมิบก้นให้ได้วันละร้อยครั้ง เพราะถ้าขมิบได้วันละร้อยแล้ว ไม่ต้องกลัวว่า สามีจะมีเล็ก มีน้อยเลยครับ

สิ่งที่ไม่ควรปฏิบัติขณะฝึกบริหารช่องคลอด

- ไม่ควรเกร็งกล้ามเนื้อหน้าอกและกลั้นหายใจขณะฝึก ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะได้

- ไม่ควรเกร็งกล้ามเนื้อท้องและกล้ามเนื้อหลังขณะฝึก ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการปวดท้อง และปวดหลัง


ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้การบริหารกล้ามเนื้อรอบช่องคลอดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การเปิดเพลงฟังขณะฝึกบริหาร จะช่วยให้ผู้ฝึก รู้สึกสนุกสนาน และไม่เบื่อหน่ายตลอดการฝึก และทุกครั้งที่ทำการฝึก ควรทำบันทึกบนปฏิทินเพื่อกันการลืม หรือช่วยจำในการฝึกต่อไปด้วย สำหรับในกรณีที่ลืม หรือหยุดบริหาร ให้กลับมาทำใหม่ได้ แต่พึงระลึกไว้เสมอว่า ถ้าจะให้ผลดี ต้องฝึกอย่างสม่ำเสมอ

ข้อมูลจากเว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการ

วันศุกร์ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2554

แนะนำสุดยอดหมอนวดแผนจีน คุณหมออุดม เชิดชูชัยไพบูลย์

ผมขอรับรอง ผมไปพิสูจน์ด้วยตนเองมาแล้ว ไปนวดมา 1 ครั้ง อาการชาซีกซ้ายซึ่งผมรักษามากว่า 6 เดือนหายสนิทเลยครับ ขอแนะนำ

ศึกษาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ http://www.udommassage.ob.tc/

มีข้อสงสัยอะไรสามารถโทรติดต่อ T. 02-214-3812 , 089-673-4224 (วันจันทร์-เสาร์ เวลา 6.00-17.00 น.)

*หมายเหตุ ร้านหมออุดมเปิด จันทร์-ศุกร์ 6.00-12.00 น. (หลังเที่ยง -15.00 น. กรุณาโทรมาก่อน) เสาร์ 6.00-11.00 น. ปิดวันอาทิตย์


วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ปรมาจารย์แห่งการปฏิบัติธรรมเจริญสติแบบลัดสั้น

ประวัติหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ จาก http://lpteean.blogspot.com/



ชาติกำเนิด
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ เกิดที่บ้านบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2454 ตรงกับวันอังคาร ขึ้น 13 ค่ำ เดือนสิบ ปีกุน เป็นบุตรของ นายจีน และนางโสม อินทผิว หลวงพ่อเทียนมีชีวิตในวัยเด็กเช่นเดียวกับเด็กชาวบ้านในท้องถิ่นชนบทห่างไกล ความเจริญโดยทั่วไป คือเมื่อตื่นเช้าก็ไปช่วยพ่อแม่ทำนาเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ตกเย็นก็ไล่ต้อนวัวควายกลับบ้าน ไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือในโรงเรียน
หลวงพ่อเทียนมีนามจริงว่าพันธ์ นามสกุล อินทผิว เหตุที่ท่านเป็นที่รู้จักในนาม หลวงพ่อเทียน เพราะคนในท้องถิ่นของท่านนิยมเรียกชื่อกันตามชื่อบุตรคนแรก บุตรชายคนแรกของหลวงพ่อชื่อเทียน ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านจึงเรียกท่านว่าพ่อเทียน ภรรยาของท่านชื่อหอมก็ได้รับการเรียกว่าแม่เทียนเช่นเดียวกัน

การบรรพชาและอุปสมบท
เมื่อ พ.ศ. 2465 หลวงพ่อเทียนมีอายุได้ 10 ขวบ ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบรรพตคีรี บ้านบุฮม ตำบลบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย โดยมีพระผอง จันทร์สุข (มีชื่อนิยมเรียกในสมัยนั้นว่า ยาคูผอง) เป็นหลวงน้าของท่านซึ่งไปเรียนหนังสือมาจาก จังหวัดอุบลราชธานี ได้มาขอกับบิดามารดาของท่านให้ท่านไปบรรพชาเป็นสามเณรคอยรับใช้ เรียกในสมัยนั้นว่าเณรใช้ อยู่วัดบรรพตคีรี บ้านบุฮม ตำบลบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นเวลา 1 ปี 6 เดือน๖(หลวงน้าของท่านรูปร่างสูงและผิวขาวเหมือนฝรั่ง เวลาติดตามหลวงน้าไปไหน หลวงน้าเดินแต่หลวงพ่อต้องวิ่ง)
ปี พ.ศ. 2474 เมื่ออายุครบการอุปสมบท หลวงพ่อก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ อยู่กับหลวงน้า คือพระผอง จันทร์สุข อีกครั้ง โดยมีพระครูวิชิตธรรมจารย์ เจ้าคณะอำเภอเชียงคานเป็นพระอุปัชฌาย์ และอยู่ประจำที่ วัดภูหรือวัดบรรพตคีรี บ้านบุฮม ตำบลบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย การอุปสมบทครั้งนี้ ท่าน ได้ครองเพศสมณะอยู่เป็นเวลา 6 เดือน ก็ได้ลาสิกขาบท

การประกอบอาชีพและการครองเรือน
หลังจากลาสิกขาบทแล้ว นายพันธ์ อินทผิว ก็ได้สมรสกับนางหอม อินทผิว มีบุตร 3 คน ยึดอาชีพทำนา ทำสวน และค้าขายขึ้นล่องระหว่างจังหวัดหนองคายและอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย การค้าขายได้ผลดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่ท่านก็ไม่มีความพอใจกับสภาพที่เป็นอยู่ แม้เวลานอนก็คิดถึงแต่เรื่องเงินทอง



เป็นนักแสวงบุญ
หลวงพ่อได้เล่าให้ฟังว่าในระหว่างที่ครองเรือน ท่านได้เป็นนักแสวงบุญ โดยได้เป็นผู้นำชาวบ้านทำบุญเสมอมา ในเวลาต่อมาท่านเป็นผู้ใหญ่บ้านมีคนเคารพนับถืออยู่ ท่านได้ชักชวนญาติพี่น้องเพื่อนบ้านในการทำบุญ เช่น มีการแจกข้าวตอนจำพรรษามีการทอดกฐิน มีการทำบุญประจำปี คือ การทำบุญบั้งไฟ ในเดือน 5 หรือ เดือน 6 มีการทำบุญมหาชาติ การเทศน์มหาชาติ การทำบุญสังฮอม(สังรวม)ธาตุ

สาเหตุที่ออกแสวงหาสัจธรรม
หลวงพ่อเล่าว่าครั้งหนึ่งคนที่เมืองลาวมาขอให้ท่านนำกฐินไปทอดที่เมืองลาว ในครั้งนั้นมีการทำกฐินถึง 5 กอง เนื่องจากมีหลายบ้านขอร่วมไปทอดด้วย และในการทำกองกฐินจะต้องมีมหรสพให้คนชม หลวงพ่อได้ตกลงกับภรรยาไว้แล้วว่า การใช้จ่ายต่างๆ และการจัดหาอาหารให้แขก ยกให้เป็นหน้าที่ของภรรยาท่าน ตัวท่านเองจะรับอุโบสถศีลและรับแขกทางไกล ครั้นเวลาเช้าภรรยาท่านมาถามว่าจะต้องจ่ายเงินค่าหมอลำเท่าไร ท่านรู้สึกโกรธมาก ท่านเล่าว่า “มันหนักจนลุกแทบจะไม่ได้ มันตำเข้าในใจ” แต่ท่านข่มอารมณ์ไว้ มิได้แสดงให้ภรรยาของท่านทราบ กลับตอบด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่าเป็นหน้าที่ของภรรยาท่าน แต่ความโกรธนั้นยังอยู่ในใจของท่าน หลังจากนำกฐินไปถวายที่ฝั่งลาว และกลับมารับประทานข้าวมื้อเย็นกับภรรยาและบุตรทั้งสอง ท่านได้กล่าวเปรยถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในตอนเช้าว่า “คนไม่รู้จักเคารพนับถือก็อย่างนี้แหละ” ท่านกล่าวซ้ำหลายครั้งคนภรรยาของท่านสะดุดใจ เมื่อภรรยาของท่านพาบุตรทั้งสองไปนอนแล้ว จึงมาถามว่า ท่านโกรธที่ถามเรื่องค่าหมอลำใช่หรือไม่ เมื่อท่านตอบว่าใช่ ภรรยาของท่านจึงพูดว่า สามีภรรยาถามกันเรื่องการจับจ่ายใช้สอยถือว่าผิดด้วยหรือ หลวงพ่อท่านเห็นด้วยกับคำพูดของภรรยา ท่านรู้ว่าท่านผิด มีมานะทิฐิอยากจะเอาชนะ ภรรยาของท่านพูดว่า “เจ้าไม่พอใจละสิ โอ! ข้อยบ่รู้จักเจ้าไม่พอใจ ก็นั่งหน้าตาดีอยู่นี่นะ โอ! เจ้าตกนรกแล้ว” หลวงพ่อท่านเห็นจริงตามคำพูดของภรรยาท่าน คำพูดนี้กระทบใจท่านมากจนท่านถือว่าภรรยาของท่านเป็นครูท่าน มีบุญคุณต่อท่านที่สุด แต่ก่อนท่านไม่เข้าใจว่าความโกรธนี้เป็นความทุกข์หนักเหมือนตกนรก ภรรยาของท่านเองก็ไม่เข้าใจแต่พูดไปตามอารมณ์ “เจ้าตกนรกแล้ว แม้ทำกองกฐินก็บ่ได้บุญดอกเจ้า”

ตัดสินใจออกไปปฏิบัติธรรม
หลวงพ่อเล่าว่าเมื่อหลวงพ่ออายุได้ 40 ปีเศษ ท่านเลิกทำการค้าขายโดยเด็ดขาด ไม่มีงานการอะไรต้องทำ ท่านจึงได้เฝ้าครุ่นคิดอยู่เสมอว่า คนเราเกิดมาแล้วก็ตาย ไม่สามารถนำอะไรติดตัวไปด้วย มีแต่บาปกับบุญ ในที่สุดท่านจึงตัดสินใจออกปฏิบัติธรรมเพื่อหาทางพ้นทุกข์ ให้ได้ ท่านบอกความตั้งใจของท่านแก่ภรรยา ภรรยาของท่านจึงได้จัดเสื้อผ้าใส่กระเป๋าให้ท่าน ท่านไม่ได้บอกภรรยาของท่านว่าจะไปอยู่ที่ใดและจะไปนานเท่าไรเพียงแต่ ท่านบอกว่าหากไม่ตายเสียก่อนก็จะกลับมาอีก เมื่อหลวงพ่อไปถึงตำบลพันพร้าว อำเภอท่าบ่อ ซึ่งเป็นอำเภอศรีเชียงใหม่ปัจจุบัน ท่านจึงได้ทราบว่า เพื่อนของท่านคือมหาศรีจันทร์ ที่ท่านตั้งใจจะมาศึกษาธรรมด้วย ได้ไปจำพรรษาอยู่ที่หลวงพระบาง ประเทศสาธารณะประชาธิปไตยประชาชนลาว มีแต่หลวงพ่อวันทองที่แต่เดิมเคยเป็นปลัดอำเภอ ปลดเกษียณแล้วจึงมาบวชเป็นพระ มีพระสงฆ์อีกรูปหนึ่งชื่อพระอาจารย์ปาน เป็นผู้สอนอารมณ์ปฏิบัติให้หลวงพ่อ อาจารย์ปานผู้นี้ท่านเป็นชาวลาว อยู่ที่สุวรรณเขต ได้ไปเรียนวิชาติงนิ่ง (การเจริญสติโดยวิธีการเคลื่อนไหว ประกอบคำบริกรรมติง – นิ่ง เมื่อเคลื่อนมือให้บริกรรม “ติง” เมื่อหยุดให้บริกรรม “นิ่ง” และให้รู้ว่าเคลื่อนไหวหรือนิ่ง ซึ่งแตกต่างจากวิธีที่หลวงพ่อเคยทำคือ เมื่อเคลื่อนมืออยู่หรือหยุดก็ให้รู้สึกเท่านั้น ไม่มีการแยกแยะว่าเคลื่อนไหวอยู่หรือหยุด)
รู้อารมณ์รูปนาม
ก่อนที่จะรู้นั้น หลวงพ่อนั่งพับเพียบ ตอนเช้ามื้อ 10 ค่ำนี่ แมงป่องตัวหนึ่งมันตกใส่ขา แมงป่องรู้จักไหม แมงงอด แมงงอดแม่ลูกอ่อนมันตกลงใส่ขาหลวงพ่อ พอดีตกปุ๊บลงมา ลูกมันอยู่ใต้ท้องแม่มันนะ มันก็แล่นออกตามขาหลวงพ่อนี่เลย พอดีมันแล่นตามขา หลวงพ่อก็เบิ่งมัน ดูมัน ลูกมันก็แล่นตาม แม่มันหมอบอยู่คาที่เลย ลูกมันออกจากท้องแม่มัน ไปนานๆแล้ว ลูกมันก็กลับมาหาแม่มันอีก พอดีลูกมันมาหาแม่มัน หลวงพ่อไม่ได้ไปทางใด หลวงพ่อก็นั่งอยู่ มีไม้อันหนึ่ง หลวงพ่อก็เอาไม้แตะขาหลวงพ่อนี่ พอดีแตะขาอย่างนี้ แมงงอดตัวนั้นมันก็แล่นเข้ามาจับไม้ แล้วเอาไปวางไว้ที่คันนา
พอประมาณตีห้า พอดูลายมือเห็นนี่แหละยังไม่สว่างดี, มันเป็นทุ่งนา ที่ๆ ไปทำนั่น, นั่งอยู่ คราวนั้นนุ่งกางเกงขาสั้น นั่งพับเพียบ, มีแมงป่องตัวนึงตกลงมา มันตกลงมาบนขา เป็นแมงป่องแม่ลูกอ่อน ลูกแมงป่องก็ตกมากับแม่มันใส่ขาอาตมาแล้ววิ่งไปตามขา, ก็นั่งดู ไม่ตกใจ, เห็น-รู้แล้วเข้าใจทันที รูป-นาม; เข้าใจจริงๆ บัดเดี๋ยวนั้นเลย. เข้าใจเรื่องรูป เรื่องนาม เรื่องรูปทำ-นามทำ รูปโรค-นามโรค เข้าใจ ทุกขัง-อนิจจัง-อนัตตา เข้าใจเรื่องสมมุติ ศาสนา-พุทธศาสนา บาป-บุญ ต้นเหตุของบาป-ต้นเหตุของบุญ. เข้าใจจริงๆ ในช่วงระยะสั้น, แว้บ-ขึ้นมาครั้งเดียวเท่านั้น, มันรู้จริงๆ เข้าใจซาบซึ้งโดยไม่เก้อเขิน-รู้ตรงนี้. รู้พุทธศาสนาคือรู้ที่ตัวเรา

ประจักษ์แจ้งสัจจะ
ตอนเช้ามืด ขณะที่ผมเดินไปเดินมาอยู่* มีตะขาบตัวหนึ่งวิ่งผ่านหน้าผม, ที่นั่นไม่มีไฟฟ้า มีเพียงเทียนไขที่จุดตั้งเอาไว้ตรงนั้น ตรงนี้สำหรับเดินจงกรม, ผมไปเอาไฟ (เทียนไข) มาส่องดูแต่ไม่เห็น ตะขาบคงไปไกลแล้ว, ตะขาบนี้เคยกัดนานมาแล้ว, เจ็บ – จำได้. เมื่อไม่เห็นผมก็มาเดินดูความคิดของตัวเองต่อ, บัดเดี๋ยวนั้น มันคิด-วูบ-ขึ้นมา, จิตใจผมรู้, รู้จักศีล. ศีลที่รู้จักขึ้นมานั้น ศีลแปลว่าปกติ, ไม่ใช่ศีลห้าศีลแปดศีลสองร้อยยี่สิบเจ็ด อย่างที่ผมเคยสมาทานรักษาศีลมาตั้งแต่หนุ่มนั้น. บัดนี้ จึงได้รู้จักว่า “ศีลเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างหยาบ, สมาธิเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างกลาง, ปัญญาเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด” – ตาม ตำราว่าไว้อย่างนี้; ตอนนี้ ผม, เพราะกำจัดกิเลสอย่างหยาบได้แล้วศีลจึงสมบูรณ์-รู้. อันที่จริง, ศีลสมบูรณ์นั้น ก็คือตัวสมาธิ-ตัวปัญญานั่นแหละ.
เมื่อจิตใจเปลี่ยนไปนั้น ผมยังเดินไปเรื่อยๆ , เมื่อผมรู้สิ่งเหล่านั้นแล้ว จิตใจมันจืด – คล้ายกับเราถอนผมออกจากหัว มันเอาไปปลูกอีกไม่ได้ จะเอากลับไปเข้ารูเดิมก็ไม่ได้, หรือคล้ายกับเอาน้ำร้อนไปลวกหนังหมู มันจะซีดขาวจืดไปหมด, หรือเปรียบเหมือนเราเอาสำลีไปจุ่มน้ำ ยกขึ้นมาบีบน้ำออก หนเดียวเท่านั้นมันจืดออกไปหมดจริง; จิตใจนี้ก็เหมือนกัน . เรื่องของความคิดนั้น: จึงขอให้ดูความคิดให้เห็นความคิด, แต่อย่าไปห้ามความคิด, คิดปุ๊บตัดปั๊บเลย. อันนี้แหละ ปัญญา, ปัญญาที่ว่าเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด. เปรียบได้กับน้ำที่สะอาดบริสุทธิ์ไม่มีตะกอน, ซึ่งก็คือตัวชีวิตจิตใจจริงๆที่ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มันอยู่ของมันเฉยๆ, ซึ่งมันมีอยู่แล้วในคนทุกคน-จะเห็นจะรู้จะเข้าใจได้ก็ต้องทำตามวิธีการของ พระพุทธเจ้านี้

ถึงตอนเช้ามืด ปรากฏว่ามีตะขาบตัวหนึ่งวิ่งผ่านหน้า ที่นั่นไม่มีไฟฟ้า เพียงแต่จุดเทียนไขเอา พอเอาไฟมาส่องดูปรากฏว่าไม่เห็นเพราะตะขาบไปไกลแล้ว ก็มาเดินดูความคิดของตัวเองต่อ บัดเดี๋ยวนั่นมันคิดวูบขึ้นมา จิตใจผมรู้ รู้จักศีล ศีล แปลว่า ปกติ ไม่ว่าศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ หรือศีล ๒๒๗ ผมเคยสมาทานศีล รักษาศีลมาตั้งแต่เป็นหนุ่ม บัดนี้จึงได้รู้ว่า ศีลเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างหยาบ สมาธิเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างกลาง ปัญญาเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด ตามตำราว่าไว้อย่างนี้ ตอนนี้ผมกำจัดกิเลสอย่างหยาบได้แล้วเมื่อมีศีลสมบูรณ์ ศีลสมบูรณ์นั้นคือตัวสมาธิ ตัวปัญญานั้นแหละ
ต่อมาจิตใจผมเปลี่ยนอีกแล้ว เป็นการเปลี่ยนครั้งที่สาม คือตอนเช้ามืดรู้สองครั้ง จิตใจเบาขึ้นมาสองระดับ ไม่เกาะติดอะไรแล้ว จึงทำให้ผมเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า รู้ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน ที่พูดมานี้อาจถูกกล่าวหาว่า ผมพูดอวดอุตริมนุสสธรรม คือธรรมอันยิ่งของมนุษย์ที่ไม่มีในตัวก็เป็นได้ แต่ผมขอยืนยันว่าการที่เล่ามานี้ ผมได้ชี้ถึงเหตุถึงผลให้ฟังด้วย เมื่อต้องการรู้ความจริงก็ต้องพูดของจริงให้ฟัง ถ้าพูดของไม่จริงก็จะเป็นการตู่หรือโกหกมดเท็จไป แต่ที่มีคนรู้แบบไปเห็นแสงสี ผีสาง เทวดา อันนั้นผมไม่รู้ มันเป็นมายาหลอกลวง

เมื่อจิตใจเปลี่ยนไปนั่น ผมยังทำความเพียรเดินจงกรมไปเรื่อยๆ ทำให้ผมรู้สิ่งเหล่านั้น แล้วจิตใจมันจืด คล้ายกับเราถอนผมออกจากหัว หรือนำน้ำร้อนไปลวกหนังหมู จะเห็นหนังขาวซีดสะอาด ดูจืดไปหมด จิตใจของเราก็เหมือนกัน คือคล้ายๆกับเราเอาสำลีไปชุบน้ำ แล้วบีบน้ำออก มันจืดหมดจนิงๆ
ความคิดก็เหมือนกัน ให้เห็นความคิด อย่าไปห้ามความคิด และอย่าไปยึดถือ ให้ปล่อยมันไป นี่คือการเห็นความคิด คิดแล้วให้ตัดปุ๊บเลย เหมือนเป็นการวิดน้ำออกจากก้นบ่อ ทำอย่างนี้นานๆ เข้า สติจะเต็มสมบูรณ์ คิดปุ๊บเห็นปั๊บ อันนี้แหละคือระดับความคิดที่เรียกว่าปัญญา ซึ่งเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด ที่ว่าละเอียดเปรียบได้กับน้ำที่สะอาดไม่มีตะกอน อันตัวชีวิตจิตใจของเราจริงๆ ก็ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มันจะอยู่ของมันเฉยๆ, ซึ่งมันมีอยู่แล้วในคนทุกคน-จะเห็นจะรู้จะเข้าใจได้ก็ต้องทำตามวิธีการของ พระพุทธเจ้านี้

เหตุการณ์หลังการรู้ธรรมะ
เมื่อหลวงพ่อกลับมาถึงบ้าน ท่านได้เปิดอบรมขึ้นเป็นเวลาสิบกว่าวัน ท่านเล่าว่าท่านเสียสละเพื่อสิ่งนี้จริง ๆ ท่านเตรียมข้าวปลาอาหารไว้รับรองผู้มาปฏิบัติธรรมด้วยทุนรอนของท่านเอง และท่านก็คิดว่าเงินทองของท่านที่ท่านมีอยู่ จะสามารถใช้จ่ายค่าอาหารสำหรับผู้มาปฏิบัติธรรมได้เป็นเวลา 3 ปี ในการจัดการอบรมครั้งแรกมีผู้เข้าอบรมทั้งหมด 30-40 คน มีทั้งพระสงฆ์และฆราวาส เจ้าคณะจังหวัดเลย และเจ้าคณะจังหวัดหนองคายได้เดินทางมาร่วมในการอบรมด้วย เมื่อท่านทั้งสองเดินทางกลับไปแล้ว หลวงพ่อก็เป็นผู้สอนการปฏิบัติ มีผู้รู้ธรรมเป็นจำนวนมาก หลวงพ่อเล่าว่าคนที่ไม่เห็นชอบด้วยก็มี แต่ท่านไม่สนใจ ท่านคิดว่าเรื่องของเขาไม่ใช่เรื่องของเรา ท่านไม่หวั่นไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์ของใครทั้งหมด
นางหอมบรรลุธรรม
ภรรยาของท่านได้ปฏิบัติธรรมได้เป็นเวลา 2 ปีกว่า ก็ถึงที่สุดแห่งทุกข์ หลวงพ่อเล่าว่าขณะนั้นภรรยาของท่านกำลังเก็บผักอยู่ในสวนครัว เพื่อจะมาต้มรับประทานตอนกลางวัน เก็บได้ไม่เท่าใดก็พูดขึ้นว่า “ โอ๊ย ! ข้อยเป็นหยังหว่า” หลวงพ่อท่านถามว่าเป็นอย่างไร ภรรยาของท่านก็ตอบว่า “ หมดตัวแล้ว มันจืดหมด จับแขนดูซิ” หลวงพ่อก็บอกกับภรรยาของท่านว่า “ เอ้า ! อย่าไปดูมันอย่างนั้น ทำสบาย ๆ อย่าไปยุ่ง” ภรรยาของท่านบอกว่า “มันหดไปหมดตัว เหมือนเนื้อถูกเกลือ” หลวงพ่อจับแขนภรรยาของท่าน ภรรยาของท่านก็บอกว่าสบายแล้ว ท่านจึงบอกว่า “อย่าไปยุ่งมัน ความทุกข์มันมีที่ตัวเราเอง” ภรรยาของท่านได้บอกท่านว่าสบายแล้ว

อุปสมบทครั้งที่สอง
ท่านอุปสมบทเป็นครั้งที่สองเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2503 ที่วัดศรีคุณเมือง ตำบลบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย มีพระครูวิชิตธรรมจารย์เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการชุนเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการสุบรรณ์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ขณะนั้นหลวงพ่อมีอายุได้ 48 ปี เมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้ว หลวงพ่อได้ทำหน้าที่ของท่านคือสอนธรรมะให้พระสงฆ์และญาติโยม ท่านมักจะถามผู้ที่ได้พบปะสนทนากับท่านว่าเขาผู้นั้นมีความทุกข์ความเดือด ร้อนอะไรบ้าง ถือศาสนาพุทธมากี่ปีแล้ว และความทุกข์จะน้อยลงไปบ้างหรือไม่ หรือยังคงมีความทุกข์อยู่ตามเดิม แสดงว่ายังไม่เข้าใจหลักพระพุทธศาสนา เพียงเข้าใจหลักศีลธรรม ศาสนาศีลธรรม ไม่ใช่เป็นพระพุทธศาสนา เพราะพระพุทธศาสนาสอนให้คนมีปัญญา กำจัดเหตุแห่งทุกข์ลงได้

เผยแพร่ธรรมะที่สิงคโปร์
เป็นการพบปะกันเป็นครั้งแรกระหว่างอาจารย์ธรรมะที่ยิ่งใหญ่สองท่านจากพุทธ ศาสนาในสองสาย ซึ่งมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันคือหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ปรมาจารย์แห่งการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวของไทย และท่านยามาดะ โรชิ (Yamada Roshi) อาจารย์เซนผู้มีชื่อเสียงจากประเทศญี่ปุ่น การพบปะกันในครั้งนั้นนับเป็นเหตุการณ์ที่สำคัญที่สุดเหตุการณ์หนึ่งใน ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาของไทยและญี่ปุ่น และเป็นที่รอคอยของชาวสิงคโปร์มาเป็นเวลานาน

สอนธรรมะโดยไม่ต้องใช้คำพูด
มีอยู่วันหนึ่งที่หลวงพ่อเข้ารับการรักษาที่ประเทศสิงคโปร์ และไม่มีใครคอยเป็นล่ามแปลภาษาให้ หยกเหลียนเยาวชนนักปฏิบัติธรรมหญิงได้เข้าไปพบหลวงพ่อ หลวงพ่อได้สอนธรรมะให้โดยไม่ได้ใช้ภาษาพูด เมื่อผู้ช่วยหลวงพ่อกลับมา ปรากฏว่าหยกเหลียนสามารถเข้าใจธรรมะของหลวงพ่อและได้เป็นนักปฏิบัติธรรมที่ สำคัญคนหนึ่งในแนวทางของหลวงพ่อเทียน

สร้างสำนักปฏิบัติธรรม
หลวงพ่อสอนธรรมะแก่พระสงฆ์และญาติโยมที่บ้านเกิดท่านได้หนึ่งปีกว่า ท่านก็ย้ายเข้ามาอยู่ในอำเภอเชียงคาน ขณะนั้นหลวงพ่อตั้งสำนักวิปัสสนาอยู่ที่อำเภอเชียงคาน 2 แห่ง คือ ที่วัดสันติวนาราม และที่วัดโพนชัย นอกจากนั้หลวงพ่อยังได้ข้ามไปเปิดสำนักอบรมวิปัสสนาที่เมืองลาวอีกแห่งหนึ่ง ด้วย
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ เมื่ออุปสมบทแล้วได้ไปจำพรรษาตามลำดับเวลา ดังนี้
พรรษาที่ 1 พ.ศ. 2503 วัดบรรพตคีรี บ้านบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
พรรษาที่ 2-3 พ.ศ.2504 – 2505 สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(ประเทศลาว)
พรรษาที่ 4 พ.ศ. 2506 ผานกเค้า อำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย
พรรษาที่ 5 พ.ศ. 2507 วัดโนนสวรรค์ ตำบลนาอ้อ อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย
พรรษาที่ 6 พ.ศ. 2508 วัดบรรพตคีรี บ้านบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย
พรรษาที่ 7 – 11 พ.ศ. 2509 - 2513 วัดป่าพุทธยาน อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย
พรรษาที่ 12–14 พ.ศ. 2514 -2516 วัดโมกขวนาราม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
พรรษาที่ 15 พ.ศ. 2517 เวียงจันทน์ ประเทศลาว
พรรษาที่ 16 –17 พ.ศ. 2518 – 2519 วัดชลประทาน อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
พรรษาที่ 18 – 19 พ.ศ. 2520 – 2521 วัดสนามใน อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
พรรษาที่ 20 พ.ศ. 2522 วัดสวนแก้ว อำเภอบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี
พรรษาที่ 21 – 22 พ.ศ. 2523 – 2525 วัดสนามใน อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
พรรษาที่ 24 พ.ศ. 2526 วัดโมกขวนาราม ตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
พรรษาที่ 25 – 28 พ.ศ. 2527 –2530 วัดสนามใน อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
พรรษาที่ 29 พ.ศ. 2531 สำนักทับมิ่งขวัญ ถนนเจริญรัฐ อำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย
(หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ, 2532. 52-54 )

อาพาธ
หลวงพ่อเริ่มมีอาการอาพาธด้วยโรคมะเร็งมาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2525 โดยท่านมีอาการอาพาธปวดท้องอยู่เนือง ๆ ในระหว่างที่ท่านไปโปรดลูกศิษย์ที่ประเทศสิงคโปร์ครั้งแรก เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2525 นั้น ท่านมีอาการปวดท้องอย่างรุนแรง ต้องลงนอนกับพื้นทันทีที่ท่านกลับมาที่พัก หลังจากที่ท่านเดินจงกรมบนถนนหน้าบ้านพัก ท่านจึงจำเป็นต้องเข้ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลสิงคโปร์ ถึงอย่างนั้นท่านยังคงเมตตาสั่งสอนชาวสิงคโปร์ผู้สนใจในการปฏิบัติอย่างใกล้ ชิด และในคราวที่ท่านรับนิมนต์ไปโปรดลูกศิษย์ชาวสิงคโปร์ครั้งที่สอง เดือนตุลาคมในปีเดียวกันนั้น อาการของโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร ได้ปรากฏขึ้นอย่างเฉียบพลัน ท่านจึงจำเป็นต้องเดินทางกลับเพื่อเข้ารับการผ่าตัด โดยทันทีตามคำแนะนำของคณะแพทย์ชาวสิงคโปร์

ละสังขาร
วันที่ 9 กันยายน 2531 หลวงพ่อเดินทางกลับจากจังหวัดเลยโดยมีศิษย์ที่เป็นพระภิกษุและฆราวาส กลุ่มหนึ่งไปส่งท่าน ในขณะนั้นอาการของหลวงพ่อทรุดหนักเป็นที่น่าวิตกว่าร่างกายของท่านอาจจะไม่ สามารถทนต่อความกระทบกระเทือนในการเดินทางได้ เมื่อเดินทางถึงทับมิ่งขวัญ จังหวัดเลย หลวงพ่อปฏิเสธที่จะฉันยาทุกชนิด แม้ว่าหลวงพ่อจะมีวิบากสังขารหนักหนาเพียงใด ท่านก็ยังมีเมตตาแสดงธรรมโปรดญาติโยมและศิษย์ที่เฝ้าอยู่ ณ ที่นั้นวันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2531 เวลา 18.15 น. หลวงพ่อได้ละสังขารอย่างสงบ ณ ศาลามุงแฝกของเกาะพุทธธรรม ทับมิ่งขวัญ สถานที่ปฏิบัติธรรมที่หลวงพ่อได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจในช่วงสุดท้ายของชีวิต (หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ, 2532. 49-51)