หนึ่งคำถาม อาจจะมีเป็นพันคำตอบ การตัดสินใจจะเชื่อสิ่งใด จะต้องใช้วิจารณญาณโดยยึดหลัก กาลามสูตรกังขานิยฐาน 10 หมายถึง วิธีปฎิบัติในเรื่องที่ควรสงสัย หรือหลักความเชื่อ ซึ่งพระพุทธเจ้า ทรงตรัสไว้ในกาลามสูตร
- อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา (มา อนุสฺสเวน)
- อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสีบๆกันมา (มา ปรมฺปราย)
- อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ (มา อิติกิราย)
- อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำรา หรือคัมภีร์ (มา ปิฏกสมฺปทาเนน)
- อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรก (มา ตกฺกเหตุ)
- อย่าปลงใจเชื่อ เพราะอนุมาน (มา นยเหตุ)
- อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล (มา อาการปริวิตกฺเกน)
- อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้าได้กับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว (มา ทิฏฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา)
- อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองเห็นรูปลักษณะน่าจะเป็นไปได้ (มา ภพฺพรูปตาย)
- อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่า ท่านสมณะนี้เป็นครูของเรา (มา สมโณ โน ครูติ)
สูตรนี้ในบาลีเรียกว่า เกสปุตติสูตร ที่ชื่อกาลามสูตร เพราะทรงแสดงแก่ชนเผ่ากาละมะ แห่งวรรณะกษัตริย์ ที่ชื่อเกสปุตติยสูตร เพราะพวกกาละมะนั้นเป็นชาวเกสปุตตะนิคม ในแคว้นโกศล ไม่ให้เชื่องมงายไร้เหตุผลตามหลัก 10 ข้อ
ตัวอย่าง
- อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา ประเภท "เขาว่า" "ได้ยินมาว่า" ทั้งหลาย
- อย่าได้ยึดถือถ้อยคำสืบๆกันมา ประเภท "ใครๆว่า" "โบราณว่า" ตามกระแส
- อย่าได้ยึดถือโดยความตื่นข่าวว่า เข่าว่าอย่างนี้ ประเภทข่าวลือ ข่าวโคมลอย ทั้งหลาย
- อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา อย่าไปตามตำรามากนัก ตำราว่าอย่างนั้น ต้องออกมาเป็นอย่างนั้น เท่านั้น เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เด็ดขาด เพราะอย่าลืมว่า ตำราบางเล่ม คนแต่งก็มั่วมาบ้าง เขียนไม่ครบบ้าง ใส่ไข่เอาเองบ้าง คนมีกิเลสไปแก้ไขตำรา คนมีผลประโยขน์ ไม่แก้ไขตำราเท่ากับเราโดนหลอก
- อย่าได้ยึดถือโดยนึกเดาเอาเอง เช่น เข้าใจเอาเอง หรือข้อมูลไม่พอ ใจร้อนเดาสุ่มเอา มั่วๆ เอา
- อย่าได้ยึดถือโดยการคาดคะเน การคาดการณ์ตามประวัติศาสตร์ ตามสถิติ ความน่าจะเป็น ซึ่งอาจจะผิดก็ได้ เพราะเห็นแค่ร้อย อย่าเหมาว่าที่ร้อยเอ็ดจะเป็นไปด้วย
- อย่าได้ยึดถือตรึงตามอาการ อย่าเห็นว่าอาการแบบนี้ น่าจะเป็นแบบนี้ ให้คิดเผื่อๆไว้ด้วย เช่น เห็นคนไข้เป็นแบบที่เคยรักษาคนอื่นๆมาก่อน อย่าไปตรึกเอาเองว่าเป็นแบบนั้น เห็นเงาก็จ่ายยาได้ เพราะเหนือฟ้ายังมีฟ้า อย่าเข้าข้างตนเอง นั่งสมาธิเห็นโน่น เห็นนี้ อย่านึกว่าเป็นจริง เพราะอาจจะเป็นจิตหลอกจิต
- อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่า ต้องกันกับทิฐิของตัว อย่าเอาความเห็นของตนเป็นใหญ่ อะไรที่ตรงกับที่ตนคิดไว้เท่านั้นที่เชื่อได้ คนคิดแบบนี้ ดื้อตายชัก
- อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ ระวังจะโดนหลอก อย่าลืมว่า สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง
- อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา การยึดอาจารย์ของตนเองมากไป ก็ไม่ดี ควรทำตาม ทดสอบดู ถ้าผิดพลาดก็ไม่ต้องเชื่อ ถ้าทำแล้วดีขึ้นก็แสดงว่าเชื่อได้
จาก
http://www.easyinsurance4u.com/buddha4u/kalamasutta.htmอ้างอิงจาก :
- พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ผู้แต่ง พระธรรมปิฎก สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. 2546 หน้า 232
- พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลศัพท์ ผู้แต่ง พระธรรมปิฎก สำนักพิมพ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. 2546 หน้า 13
- พระพุทธเจ้าสอนอะไร แปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทย โดย ร.ศ.ชูศักดิ์ ทิพย์เกษร และคณะ โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. 2547 หน้า 15-17
- คิดอย่างเป็นระบบ และ เทคนิคการแก้ปัญหา ผู้แต่ง ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ สำนักพิมพ์ อริยชน จำกัด หน้า 190-191